นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ที่ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันโภชนาการ ร่วมกับ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ลงพื้นที่ศึกษาวิจัยเรื่องความมั่นคงทางอาหารร่วมกับชุมชนกะเหรี่ยงโผล่ว (Pwo Karen) ซึ่งอาศัยในพื้นที่กว่า 200 ปี ปัจจุบันเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก
ซึ่งระยะทางไม่ห่างมากนักจากที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี พบว่าชุมชนร่วมมือกันดูแลผืนดิน แหล่งน้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ผลตอบแทนกลับมาคือความหลากหลายอาหารกว่า 300 ชนิด หลายชนิดอุดมด้วยสารอาหารสำคัญดีต่อสุขภาพของคนในชุมชน
ปัจจุบัน เพื่อสนองวิกฤติเร่งด่วน "ภาวะโลกร้อน" ได้มีการขยายบริบทงานวิจัยครอบคลุม "Climate Change" โดย สถาบันโภชนาการ ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยกลุ่มนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด (Hokkaido University) มหาวิทยาลัยโตเกียว (Tokyo University) และ มหาวิทยาลัยฮิโรชิมา (Hiroshima University) ประเทศญี่ปุ่น
ร่วมด้วย มหาวิทยาลัยตะวันออกเฉียงเหนือแห่งรัฐ (North-Eastern Federal University) สหพันธรัฐรัสเซีย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และทีมวิจัยอิสระ ภายใต้ทุน e-ASIA Joint Research Program
พร้อมสนับสนุนให้ "ของดี" แหล่งอาหารดั้งเดิมของชุมชนกะเหรี่ยงโผล่วทุ่งใหญ่นเรศวรเกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นำทีมวิจัยโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์ประจำหน่วยมนุษยโภชนาการ และคณะผู้วิจัยจากหน่วยส่งเสริมโภชนาการและสุขภาวะ และโภชนาการชุมชน
ตัวอย่างจากที่เคยสำรวจพบว่า แหล่งอาหารธรรมชาติในท้องถิ่นที่อุดมด้วยธาตุเหล็กและแคลเซียม ได้แก่ "คลูมี" (ภาษาถิ่น-หอยน้ำจืด) หากคลื่นความร้อนถาโถมจนส่งผลให้ระดับน้ำเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ในวันหนึ่งชาวชุมชนฯ หา "คลูมี" จากท้องถิ่นธรรมชาติมารับประทานอย่างเช่นเหมือนก่อนได้ยาก
การทำงานร่วมกับองค์กรในชุมชน อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โรงพยาบาลสังขละบุรี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกองม่องทะ และทีมเยาวชนได้ร่วมศึกษาวิถีการดูแลแหล่งอาหารของชุมชน การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง คุณค่าโภชนาการของอาหารท้องถิ่น การประเมินภาวะโภชนาการ ทำให้งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมศักยภาพสุขภาวะชุมชนกะเหรี่ยงโผล่วทุ่งใหญ่นเรศวรให้มีความมั่นคงยั่งยืนทางอาหาร คล้องกับสภาวะ Climate Change และการเปลี่ยนแปลงของสังคม
สำหรับความคืบหน้างานวิจัย ปัจจุบันได้รับการตีพิมพ์แล้วในส่วนของการออกแบบงานวิจัย (Study Protocol) ในวารสารวิชาการนานาชาติสาขาวิทยาศาสตร์ "PLOS ONE" โดยมีปลายทางเพื่อให้ชุมชนเกิดการ "เฝ้าระวัง" โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก "ภัยแล้ง" ที่เกิดจาก "โลกร้อน" พร้อมผลักดันสู่ "นโยบายจัดการสิ่งแวดล้อม" เพื่อ "ความมั่นคงยั่งยืนทางอาหาร" โดยเปรียบเทียบระหว่างประเทศร่วมวิจัยเพื่อขยายผลสู่ระดับโลก
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล