สำหรับมาตรการที่ 1. การควบคุมและกำจัด ปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด กรมประมง พร้อมแก้ไขกฎหมายซึ่งเป็นอุปสรรคในการใช้เครื่องมือประมงที่เหมาะสมเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ โดยมีการสำรวจข้อมูลการใช้เครื่องมือประมงที่ใช้ในการกำจัดปลาหมอคางดำ และได้มีการประกาศการอนุญาตผ่อนผันใช้เครื่องมือประมงอวนรุน ตามประกาศกรมประมง ทั้งนี้ ได้เปิดช่องทางให้จังหวัดที่มีความต้องการขออนุญาตผ่อนผันการใช้เครื่องมือประมงเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ เสนอเรื่องผ่านมติที่ประชุมคณะทำงานฯ มายังกองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ เพื่อประกาศ ผ่อนผัน ตามเงื่อนไขและความเหมาะสม นอกจากนี้ กรมประมงภายใต้การสั่งการของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมเตรียมแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการกำหนดเครื่องมือที่ใช้ทำการประมง เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำขึ้น สำหรับอำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการขอใช้เครื่องของประมงพื้นบ้าน โดยกรมประมงได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรประมงท้องถิ่น ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการควบคุม กำจัด ปลาหมอคางดำในทุกพื้นที่แพร่ระบาด
มาตรการที่ 2. การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง โดยกรมประมงได้ปล่อยลูกพันธุ์ปลาผู้ล่าทั้งปลากะพงขาวปลาอีกง และอื่นๆ ไปแล้วจำนวนกว่า 226,000 ตัว ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี กรุงเทพมหานคร ราชบุรี และสงขลา และยังมีโครงการ จะปล่อยอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ ทั้งนี้ กรมประมงขอยืนยันว่า ปลาหมอคางดำขนาดโตเต็มวัย ไม่สามารถกินลูกพันธุ์ปลาผู้ล่าขนาด 4 นิ้วที่ปล่อยลงไปได้ และลูกพันธุ์ปลาผู้ล่าเหล่านี้สามารถกินลูกปลาหมอคางดำ ขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตรเพื่อควบคุมประชากรที่มีปริมาณมากได้ โดยกรมประมงจะเลือกพันธุ์ปลาผู้ล่าและพื้นที่การปล่อย รวมถึงจำนวนการปล่อย ให้เหมาะสมกับระบบนิเวศของพื้นที่ที่สุด
มาตรการที่ 3. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ กรมประมงได้ประสานสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย ในพื้นที่สมุทรสาครจำหน่ายให้กับโรงงานปลาป่น 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด ราคากิโลกรัมละ 10 บาท ได้รับการจัดสรรโควตา 500,000 กิโลกรัม (500 ตัน) จำหน่ายไปแล้ว 491,687 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 4,916,870 บาท และบริษัทอุตสาหกรรมปลาป่นท่าจีน จำกัด รับซื้อราคากิโลกรัมละ 7 บาท แบบไม่จำกัดโควตา โดยมีการรับซื้อปลาหมอคางดำจากพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง คือ กรุงเทพมหานครและราชบุรี รวมปริมาณการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำส่งโรงงาน เพื่อผลิตปลาป่น 510,000 กิโลกรัม มูลค่า 5,022,000 บาท และกรมประมงได้ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน (สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10) จัดโครงการรณรงค์การทำน้ำหมัก ชีวภาพคุณภาพสูง (สูตรไนโตรเจนสูง) รับซื้อปลาหมอคางดำราคากิโลกรัมละ 7 - 8 บาท นอกจากนี้ เครือข่ายภาคประชาชนมีการนำปลาหมอคางดำที่จับจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ โดยมีแหล่งรับซื้อปลาหมอคางดำ ได้แก่ แพรับซื้อปลาขนาดเล็กเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ (ปลาสด) เพื่อใช้เป็นปลาเหยื่อเลี้ยงสัตว์น้ำและ ปลาเหยื่อลอบปู ที่สำคัญ กรมประมงจะเร่งหาพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มช่องทางการรับซื้อ และศึกษาวิจัยประโยชน์ในด้านอื่นๆ ของปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปใช้สานต่อในอนาคต
มาตรการที่ 4. การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน กรมประมง ได้ดำเนินการจัดทำระบบแจ้งตำแหน่งการพบปลาหมอคางดำในรูปแบบออนไลน์สำหรับประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบบริเวณที่มีการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำโดยประชาชนสามารถแจ้ง เบาะแสพิกัดที่พบการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำได้ที่ https://shorturl.asia/3MbkG เพื่อเป็นข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ ติดตามและ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
มาตรการที่ 5. การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ กรมประมงจัดให้มีการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากหน่วยงานระดับจังหวัด ได้มีคณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำแล้ว สำนักงานประมงจังหวัดทั้ง 16 จังหวัด (ระบาด 14จังหวัดและกันชน 2 จังหวัด) ดำเนินการจัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ตื่นตัว ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก ตัวอย่างเช่นการดำเนินงานจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ในเดือนกรกฎาคม 2567 อาทิ วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 จังหวัดเพชรบุรีมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาหมอ คางดำ ได้แก่ ปลาส้ม ปลาแดดเดียวและน้ำปลา
ทั้งนี้ ทางจังหวัดจัดตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อดำเนินการทำร่างแผนปฏิบัติการ และงบประมาณในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ให้สอดคล้องกับ 5 มาตราการดังกล่าว เพื่อให้แผนรายจังหวัดสามารถปฏิบัติได้จริงและเห็นผลเป็นรูปธรรมที่สุด แต่ในขณะนี้ทุกจังหวัดได้เริ่มดำเนินการตามแผนฯ เบื้องต้นไปแล้ว โดยมีหน่วยงานกรมประมงในพื้นที่ร่วมบูรณาการกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประมงท้องถิ่นและภาคประชาชนในการดำเนินการ นอกจากนี้ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นจะใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ในระหว่างที่รอของบกลาง และได้สั่งการเร่งด่วนมายังอธิบดีกรมประมงให้เร่งจัดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ภายใน 1 สัปดาห์ ในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้กับประชาชนในการมีส่วนร่วมควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด
สำหรับกระแสสังคมที่มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องต้นตอของการแพร่ระบาดอย่างหนักของปลาหมอคางดำในขณะนี้ กรมประมงต้องขอชี้แจงว่า ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา และได้มีการขออนุญาตขำเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อวิจัยปรับปรุงพันธุ์จากบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบ เรื่องสุขอนามัยของสัตว์น้ำที่ผู้นำสัตว์น้ำทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเข้ามาในราชอาณาจักร อันเป็นการควบคุมโรคสัตว์น้ำ มิให้มีแพร่การระบาด ดังนั้นหากภาคเอกชนใดต้องการนำเข้ามาในประเทศ ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่โดยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นทางวิชาการจากคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) และเมื่อได้รับอนุญาตนำเข้าแล้ว เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์น้ำกรมประมง จะดำเนินการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำนั้นจนสู่แหล่งทดลองที่ได้รับการอนุญาต นั้นคือกระบวนการที่บริษัทดังกล่าวดำเนินการขออนุญาตอย่างถูกต้องเพื่อนำเข้ามาวิจัยปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบเรื่องสุขอนามัยของสัตว์น้ำเป็นหลัก ซึ่งภายหลังบริษัทดังกล่าวฯ ยกเลิกการทำวิจัยและไม่ได้แจ้งต่อกรมประมงในการจัดการทำลายตัวอย่างตามเงื่อนไขที่กรมประมงกำหนด ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่เลี้ยงของบริษัทในช่วงพบการแพร่ระบาดในปี 2560 ของเจ้าหน้าที่กรมประมง จึงได้รับรายงานว่าได้ทำลายตัวอย่างทั้งหมดโดยการฝังกลบ จากที่เป็นประเด็นในสื่อต่าง ๆ ว่ากรมประมงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับตัวอย่างปลาหมอคางดำที่ใช้ในการวิจัยจากบริษัทดังกล่าวที่ฟาร์ม จำนวน 50 ตัวอย่าง และต้องการให้กรมประมงนำตัวอย่างดังกล่าวมาตรวจสอบว่ามี DNA ตรงกับปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้หรือไม่ กรมประมงได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารหรือหลักฐานการรับมอบตัวอย่างในสมุดลงทะเบียนรับตัวอย่างและฐานข้อมูลในระบบ ตั้งแต่ที่มีการนำเข้าจนถึงปี 2554 ไม่พบหลักฐานการรับตัวอย่างและขวดตัวอย่างดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้มีข้อสั่งการอย่างเร่งด่วนให้กรมประมงแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ หากกรมประมงพบหลักฐานใด ๆ เพิ่มเติม จะเร่งดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการเพื่อหาต้นตอ และหาข้อเท็จจริงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม
สำหรับปัจจุบันการป้องกันการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่นกรมประมงได้มีการบังคับใช้กฎหมายภายใต้มาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยปลาหมอคางดำเป็น 1 ใน 13 ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง อนึ่ง มาตรา 144 ได้กำหนดโทษไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 65 วรรคสอง ต้องระหว่างโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่ากระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ได้มีการปรับปรุงกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร
ที่สำคัญ ในระยะยาวกรมประมงจะนำ "โครงการวิจัย การเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ" โดยโครงการดังกล่าวฯ กรมประมงได้มีแนวทางในการควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำด้วยหลักการทางพันธุศาสตร์ โดยการศึกษาสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษเหล่านี้ ลงสู่แหล่งน้ำเพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) การผสมพันธุ์นี้จะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำ ที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) ซึ่งลูกปลาที่มีโครโมโซม 3 ชุดนี้จะกลายเป็นปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้ ในเบื้องต้นของการศึกษานี้จะทดลองในบ่อทดลองเลียนแบบธรรมชาติภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี และจะทยอยปล่อยอย่างน้อย 250,000 ตัว ภายในระยะเวลา 15 เดือน (กรกฎาคม 2567 - กันยายน 2568) คาดว่าสามารถเริ่มปล่อยพันธุ์ปลาได้อย่างช้าสุดในเดือนธันวาคม 2567 อย่างน้อยจำนวน 50,000 ตัว และเมื่อดำเนินการควบคู่กับวิธีการควบคุมอื่น ๆ เช่น การใช้ปลาผู้ล่า และการจับปลา ไปใช้ประโยชน์ ก็จะส่งผลให้การเพิ่มจำนวนปลาหมอคางดำรุ่นใหม่ลดลงจนสามารถควบคุมการระบาดได้ในอนาคต ภายใน 3 ปี อย่างไรก็ตาม แม้ว่างานวิจัยนี้จะเป็นแนวทางที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำได้อย่างดีเยี่ยม กรมประมงยังคงตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของสัตว์น้ำอื่น ๆ ในธรรมชาติ ดังนั้น จึงต้องดำเนินการศึกษาอย่างละเอียดและรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ หลังจากปลาหมอคางดำเริ่มลดจำนวนลงกรมประมงจะเร่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยการปล่อยชนิดพันธุ์ปลาพื้นเมืองของไทยที่พบในระบบนิเวศเดิม จัดทำเขตอนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูความหลากหลาย และสร้างเครือข่ายชุมชนในการอนุรักษ์และรักษาระบบนิเวศ รวมถึงเฝ้าระวังแจ้งเหตุ เพื่อคืนปลาพื้นเมืองไทยเหล่านี้กลับสู่ระบบนิเวศ สร้างสมดุลคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งน้ำธรรมชาติดั้งเดิมอย่างยั่งยืน
ที่มา: กรมประมง