ทั้งนี้ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว ชาวนาเคยชินกับการทำนาแบบดั้งเดิม โดยมักจะเผาตอซังและฟางข้าว ด้วยเหตุผลเพื่อกำจัดข้าววัชพืช และเพื่อความสะดวกในการไถเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูกในรอบถัดไป ซึ่งเป็นวิธีที่เร็วและง่าย ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เนื่องจากการเผาทำลายอินทรียวัตถุ ธาตุอาหาร และโครงสร้างดิน ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ผลผลิตลดลง และชาวนามีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า กลุ่มจุลินทรีย์ BioD I วว. เพื่อย่อยสลายตอซังข้าว เป็นความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาของ วว. โดย ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ ในสังกัด ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือของ วว. จังหวัดปทุมธานี กลุ่มเกษตรกร และบริษัทอาปิโก ไฮเทคฯ ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการลดผลกระทบต่องสิ่งแวดล้อมด้านการเกษตร (การสนับสนุนให้ภาคการเกษตรลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม) ของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยจุลินทรีย์กลุ่มดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังและฟางข้าว ซึ่งเกษตรกรที่นำไปใช้มีความพึงพอใจ เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการหมักเพื่อย่อยสลายสั้น จุลินทรีย์ไม่ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของข้าว และไม่กระทบต่อระบบนิเวศ นอกจ่ากนี้เพื่อให้ใช้งานสะดวกและมีความยั่งยืนในการใช้จุลินทรีย์ของเกษตรกร วว. ได้คิดค้น "ถังบ่มเพาะหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ฯ" ซึ่งเกษตรกรสามารถผลิตขยายจุลินทรีย์ได้เอง และมีจุลินทรีย์ฯ กระจายสู่เกษตรกรในชุมชนได้ทั่วถึง
รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า จังหวัดปทุมธานีให้ความสำคัญกับปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยมีแนวทางการดำเนินงาน คือ "รักษ์โลก ปลอดเผา ปลอดภัย" และได้ขอความร่วมมือชาวปทุมธานีให้หยุดเผาในพื้นที่โล่งแจ้งและพื้นที่การเกษตร เพื่ออากาศสะอาด ปราศจากหมอกควัน และได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี สร้างการรับรู้และทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงผลกระทบจากการเผา และนำเสนอแนวทางการดำเนินงาน "3R Pathumthani Model" เพื่อลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรจังหวัดปทุมธานี ดังนี้ 1. Realize : สร้างการตระหนักรู้ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความตระหนักถึงผลกระทบจากการเผา 2. Re-Habit : ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปลูกพืชแบบไม่เผา ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางและตอซัง มุ่งสู่การทำการเกษตรปลอดการเผา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 3. Recycle : นำวัสดุเหลือใช้หมุนเวียนมาใช้ใหม่ ส่งเสริมให้มีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผาทำลาย ทั้งนี้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหามลพิษ หมอกควัน ฝุ่นละออง PM2.5 ทำให้ในวันนี้จังหวัดปทุมธานีพร้อมเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร และพร้อมที่จะส่งมอบจุลินทรีย์ BioD I วว. ให้แก่เกษตรกรชาวปทุมธานีทุกคน
สำหรับผลงาน "เทคโนโลยี วว. ยกระดับการเกษตรปทุมธานี" ที่ร่วมจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ เป็นผลการดำเนินงานของ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดปทุมธานี ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มุ่งเน้นให้การทำเกษตรกรรมของจังหวัดได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีความเข้มแข็งและมั่นคงในอาชีพ จากการดำเนินงานก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ 20.7858 ล้านบาท ผลกระทบทางสังคม 0.3001 ล้านบาท ผลงานที่จัดแสดงประกอบด้วย การพัฒนาปัจจัยการผลิตเฉพาะพื้นที่ (พันธุ์พืช ปุ๋ย ชีวภัณฑ์) ได้แก่ การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตชะลอความสูงของต้นกล้วยโดยใช้ฮอร์โมน (กล้วยต้นเตี้ย) การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตเพิ่มขนาดผลกล้วย (กล้วยผลโต) การปลูกเลี้ยงกล้วยปลอดโรค ปุ๋ยเสริมซีลีเนียมในกล้วย และการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชอัตลักษณ์/สมุนไพร ได้แก่ สารสกัดข้าวหอมปทุมธานี กล้วยหอมปทุม และบัวหลวง เป็นต้น
** หมายเหตุ ; BioD I วว. อ่านว่า ไบ-โอ-ดี-วัน วว .**
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย