นายเพิ่มสุข กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. มีพันธกิจสำคัญในการพัฒนากำลังคนให้มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ทางวิชาการและทักษะในการดำรงชีวิต รวมถึงทักษะวิชาชีพที่มุ่งเน้นสมรรถนะ และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างทางเลือก สร้างโอกาส สนับสนุนเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนขับเคลื่อนผลักดันงานตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สถาบันอุดมศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นแหล่งผลิตและพัฒนากำลังคนคุณภาพสู่ตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม สถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถดำเนินภารกิจดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์ประเทศในสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในปัจจุบันได้เพียงลำพัง จึงต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการร่วมกันกำหนดทักษะของบัณฑิตที่ตรงกับความต้องการ
นายเพิ่มสุข กล่าวต่อว่า สถาบันอุดมศึกษาต้องจัดคนและเร่งพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต โดย สำนักงานปลัดกระทรวง อว. จะเป็นตัวกลางในการประสานจับคู่ความร่วมมือระหว่างความต้องการของภาคเอกชนและสถานประกอบการกับการพัฒนากำลังคนของภาคการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ.2562 มาตรา 35 ซึ่งระบุว่า สถาบันอุดมศึกษาพึงสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการปฏิบัติงานจริง และพัฒนาความรู้ ทักษะสมรรรถนะและคุณลักษณะอื่นให้สอดดคล้องกับความต้องการของประเทศ ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษาจึงควรมีหลักสูตรที่มีความร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง อันเป็นแนวทางการจัดการศึกษาแบบเน้นประสบการณ์ (Experiential Learning) ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาทักษะและความพร้อมของผู้สำเร็จการศึกษาให้สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากห้องเรียนเข้ากับบริบทของการทำงานจริง ซึ่งถือเป็นแนวทางจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาแบบใหม่ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความต้องการจากตลาดแรงงาน ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน พร้อมให้ผู้เรียนสามารถเรียนและทำงานไปพร้อมกันได้ สอดคล้องกับนโยบาย "เรียนดี มีความสุข มีรายได้" ของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. โดย สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ส่งเสริมการจัดการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือ CWIE ซึ่งสอดคล้องกับการจัดการศึกษาของ EEC ในรูปแบบ EEC Model Type A โดยการจัดการศึกษา ทั้ง 2 รูปแบบ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ การมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพและสมรรถนะสูง สามารถปฏิบัติงานได้จริง ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะสถานประกอบการในเขตพื้นที่ EEC ที่เป็นพื้นพื้นที่การลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญของรัฐบาล และมีความต้องการกำลังคนระดับอุดมศึกษาในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวนมาก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ
"การลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการในวันนี้ จึงเป็นทั้งสัญลักษณ์และพันธะสัญญา (Commitment) ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะร่วมกันผนึกกำลัง ผลักดัน และช่วยกันส่งเสริมการศึกษาในรูปแบบ Demand Driven Education เพื่อให้เกิดการขยายผลไปในวงกว้างและกระจายไปยังทุกกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งขยายภาคีความร่วมมือไปยังภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานประกอบการอื่นๆ ทั้งภายในพื้นที่เขต EEC และพื้นที่ต่างๆ ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ" ปลัดกระทรวง อว. กล่าว
ที่มา: มหาวิทยาลัยศรีปทุม