ทาสแมวทั้งหลายย่อมอยากเห็นเจ้านายแสนรัก (น้องแมว) มีความสุขกาย ไม่เจ็บไม่ไข้ แต่แมวก็เช่นเดียวกับคน ที่มีโอกาสเผชิญกับความเจ็บป่วยนานา โดยเฉพาะโรคยอดฮิตที่มักเกิดขึ้นกับแมวเลี้ยงปัจจุบัน ได้แก่ โรคไต โรคนิ่ว และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
โรคเหล่านี้ หากเจ้าของมีเวลาและสังเกตพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงที่เปลี่ยนไป ก็จะทำให้สามารถนำน้องแมวเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ แต่น่าเสียดายที่ทาสแมวหลายคน ไม่ว่าจะเป็นทาสแมวเลี้ยงเดี่ยวหรือแก๊งค์แมวงอก ไม่ค่อยจะมีเวลาสังเกตพฤติกรรมน้องแมวมากนัก ทำให้กว่าจะรู้ว่า "เจ้านาย" ป่วย อาการของโรคก็เข้าขั้นหนักแล้ว จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่อาจสร้างความเจ็บปวดทรมานให้สัตว์เลี้ยงและค่ารักษาที่บานปลาย
ทุกข์ของน้องแมวและเจ้าของดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของ "ชุดตรวจปัสสาวะแมว" นวัตกรรมเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงแสนรักและเจ้าของ ผลงานการคิดค้นโดย ดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง นักวิจัยหลังปริญญาเอก C2F ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท เวลตี้ ม็อกกี้ อินโนเวชั่น จำกัด (Wealthy Moggie Innovation Co.,Ltd.) ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร. คเณศ วงษ์ระวี ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ภายใต้ทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในโครงการต้นแบบนักประดิษฐ์ไทยนักประดิษฐ์โลก
"เราหวังให้ชุดตรวจปัสสาวะในแมวเป็นหนึ่งในตัวช่วย เพื่อให้เจ้าของสามารถตรวจเช็กสุขภาพของน้องแมวเป็นประจำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งหากตรวจพบความเสี่ยงโรคไต นิ่ว หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ก็จะได้พาแมวไปรับการรักษากับสัตวแพทย์ได้ทันท่วงที" ดร.ลัญจกรกล่าว
ชุดตรวจปัสสาวะแมวเป็นงานวิจัยที่ผ่านการทดสอบความแม่นยำ และได้รับรางวัล Gold Prize จากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ Seoul International Invention Fair 2022 สาธารณรัฐเกาหลี และ Gold Medal จากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ Kaohsiung International Invention & Design Expo 2023 ประเทศไต้หวัน ปัจจุบัน มีวางจำหน่ายเพื่อให้ทาสแมวได้ดูแลสุขภาพน้องแมวแสนรักแล้ว
อาการบ่งชี้ว่าแมวเสี่ยงเป็นโรคไต
ดร.ลัญจกรกล่าวว่าแมวเลี้ยงจำนวนมากมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคไต โรคนิ่ว โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยปัจจัยหลัก ๆ มาจากลักษณะนิสัยการกินได้แก่
- พฤติกรรมสุดอินดี้ของแมว (บางตัว) ที่มัก "ดื่มน้ำน้อย"
- การกินอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะจากเจ้าของที่นำอาหารปรุงรสที่คนกิน เอาไปให้แมว ขนมแมวชนิดต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง โซเดียมสูง ยิ่งกระตุ้นให้ไตแมวทำงานหนักขึ้น
แล้วทาสแมวจะรู้ได้อย่างไรว่าแมวแสนรักกำลังจะเริ่มเป็นโรคไต นิ่ว กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ?
"เพราะแมวไม่สามารถพูดบอกความเจ็บป่วยได้ เจ้าของจึงต้องใส่ใจสังเกตพฤติกรรมแมวเป็นประจำ" ดร.ลัญจกรกล่าวถึงวิธีสังเกตแมวว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคไต หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือไม่ โดยดูได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม เป็นต้นว่า
- เบื่ออาหาร กินอาหารน้อยลง
- ซึมลง
- แมวบางตัวอาจจะดื่มน้ำเยอะกว่าปกติ
- ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติหรือไม่ปัสสาวะเลย
- ปัสสาวะมีสีเข้มหรือมีเลือดปน
- น้ำหนักตัวลด
ดร.ลัญจกรกล่าวว่าหากทาสแมวพบเห็นอาการเหล่านี้ ควรนำแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคอย่างละเอียดและรับการรักษาในทันที
"แมวที่ตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรก สัตวแพทย์จะรักษาโดยจ่ายยาฆ่าเชื้อและยาสลายนิ่วให้ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาประมาณหลักพันบาท แต่ในรายที่เจ้าของไม่ทันสังเกตความผิดปกติของแมว จนแมวเริ่มอาการหนักและมีภาวะเสี่ยงไตวาย สัตวแพทย์จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอานิ่วออก และ/หรือฟอกไตควบคู่กันไป ค่าใช้จ่ายในการรักษาขั้นนี้จะมากขึ้นประมาณหลักหมื่นบาท" ดร.ลัญจกรกล่าวเน้นให้ทาสแมวเห็นความสำคัญของการหมั่นสังเกตพฤติกรรมน้องแมว ไม่เพียงเพื่อคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยง แต่เพื่อดูแลเงินในกระเป๋าของเจ้าของด้วย
ตรวจแมวเสี่ยงไต ไม่เจ็บและง่ายใน 3 ขั้นตอน
ดร.ลัญจกรเล่าว่าปัจจุบันสัตวแพทย์มีวิธีวินิจฉัยแมวป่วยเป็นโรคไต หรือโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โดยการอ่านแถบสีที่แสดงผลวิเคราะห์สารประกอบในปัสสาวะแมวว่ามีเม็ดเลือดปนหรือไม่ ซึ่งกระบวนการเก็บตัวอย่างปัสสาวะแมวมี 2 วิธี คือ
- การใช้เข็มแทงเข้าไปที่กระเพาะปัสสาวะของแมว เพื่อดูดเอาน้ำปัสสาวะออกมา
- การใช้เข็มสวนเข้าไปที่อวัยวะเพศของแมว เพื่อดูดเอาน้ำปัสสาวะออกมา
"แนวการตรวจวินิจฉัยดังกล่าวได้ผลตรวจที่แม่นยำเพราะเป็นการเก็บตัวอย่างจากในกระเพาะปัสสาวะ และอวัยวะเพศแมวโดยตรง แต่ก็ทำให้แมวเจ็บปวดไม่น้อยเลย ทีมวิจัยอยากแก้ปัญหาในส่วนนี้ เราจึงคิดค้นชุดตรวจปัสสาวะแมวขึ้นมา เพื่อลดความเจ็บปวดของแมวในขั้นตอนการวินิจฉัยโรค และลดการเจ็บป่วยจากโรคไตและโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในแมว"
ชุดตรวจปัสสาวะแมว คือ ชุดตรวจคัดกรองเบื้องต้นสำหรับภาวะปัสสาวะมีเลือดในแมว สามารถบอกถึงความเสี่ยงระดับ 3 (>2500 RBC/?L) ที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคไต โรคนิ่ว โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น (ความเสี่ยงมีทั้งหมด 3 ระดับ โดยระดับ 3 แสดงว่าป่วยชัดเจน)
ชุดตรวจปัสสาวะแมวมีลักษณะคล้าย ATK ใช้งานง่าย โดยอุปกรณ์ในชุดตรวจประกอบด้วย ชุดตรวจ หลอดบรรจุน้ำยา หลอดดูด ช้อนสำหรับเก็บตัวอย่างปัสสาวะแมวที่อยู่ในก้อนทรายแมว ซึ่งชุดตรวจนี้สามารถใช้กับทรายแมวได้ทุกชนิด หรือเจ้าของจะเก็บตัวอย่างปัสสาวะแมวจากจุดที่แมวปัสสาวะทิ้งไว้ตามพื้นหรือกำแพงก็ยิ่งจะทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นสูง
ดร.ลัญจกรอธิบายการใช้งานชุดตรวจปัสสาวะแมว ที่ทำได้ง่าย ๆ ใน 3 ขั้นตอน ดังนี้
- ตักก้อนทรายบริเวณที่โดนปัสสาวะแมวผสมกับน้ำยา (ควรตักกลาง ๆ ก้อนทรายที่มีปัสสาวะฉ่ำมาก)
- หยดน้ำยาลงแผ่นทดสอบ
- รออ่านผล 5 -10 นาที โดยสีที่ปรากฎบนชุดตรวจแปลผลได้ดังนี้
- แถบ C และ T ขึ้นสีเขียวทั้ง 2 ขีด หมายถึง Positive คือ ภาวะมีเลือดปนปัสสาวะ
- แถบ C ขึ้นสีเขียว 1 ขีด และแถบ T ขึ้นสีเหลือง 1 ขีด หมายถึง Negative คือ ภาวะปกติ ไม่มีเลือดปนปัสสาวะ
- แถบ C และ T เป็นสีเหลืองทั้งคู่ หรือมีสีเขียวขึ้นที่แถบ T เพียงอย่างเดียว หมายถึง Invalid คือ ภาวะไม่สามารถอ่านผลได้
ชุดตรวจนี้มีความแม่นยำสูง 100% เทียบเท่ากับการตรวจในห้องแล็บในโรงพยาบาลสัตว์ เพราะใช้ตัวเซนเซอร์ตัวเดียวกับที่สัตวแพทย์ใช้ในการตรวจวินิจฉัย สามารถตรวจได้ทั้งแมวและสุนัข อีกทั้งไม่ทำให้สัตว์เลี้ยงเจ็บปวดขณะตรวจอีกด้วย"
ชุดตรวจปัสสาวะแมว ของต้องมีติดบ้านทาสแมว
นอกจากจะใช้งานง่าย รู้ผลไวและแม่นยำแล้ว เจ้าของสามารถใช้ชุดตรวจปัสสาวะแมวเพื่อตรวจความเสี่ยงโรคของสัตว์เลี้ยงได้เป็นประจำอีกด้วย
"แมวทุกสายพันธุ์ ช่วงอายุและเพศ ล้วนมีความเสี่ยงเป็นโรคโรคไต โรคนิ่ว และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ดังนั้น เจ้าของแมวสามารถใช้ชุดตรวจนี้ตรวจแมวในบ้านเดือนละครั้ง หรือตรวจถี่มากกว่านั้นก็ได้หากพบว่าแมวเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งนี้เพื่อความสบายใจของเจ้าของ และความสบายกายของแมว ที่ไม่ต้องเสี่ยงเจ็บป่วยหนักจากโรคที่ป้องกันและรักษาหายได้ด้วยความใส่ใจของเจ้าของ"
พัฒนาชุดตรวจสุขภาพแมวในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ดร.ลัญจกรกล่าวว่าชุดตรวจปัสสาวะแมวที่ผลิตออกมาในปัจจุบันนั้นยังมีข้ออ่อนที่ต้องพัฒนา
"ชุดตรวจเป็นการตรวจจากปัสสาวะแมวในก้อนทรายแมว ทำให้ตัวอย่างมีความเจือจางของเลือดในปัสสาวะ ดังนั้น ชุดตรวจจะตรวจเจอภาวะมีเลือดปนในปัสสาวะแมวเมื่อแมวเริ่มมีอาการป่วยสูงถึงระดับ 3 แล้ว ซึ่งหากผลตรวจปัสสาวะเป็น Positive เจ้าของแมวควรนำแมวไปเข้ารับการรักษากับสัตวแพทย์ในทันที" ดร.ลัญจกรกล่าว พร้อมเผยแผนที่จะพัฒนาชุดตรวจปัสสาวะแมวให้มีความไวเพิ่มขึ้นสำหรับการตรวจจับเลือดปริมาณน้อย หรือเจือจางมาก ๆ ที่ปนมาในปัสสาวะแมว
นอกจากนี้ ในอนาคต ดร.ลัญจกรยังกล่าวถึงแผนที่จะพัฒนาชุดตรวจให้สามารถตรวจความเสี่ยงโรคเบาหวานในแมวได้อีกด้วย โดยตรวจจากน้ำตาลที่เจือปนในปัสสาวะแมว
สำหรับทาสแมวและคนรักสัตว์ที่สนใจการตรวจเพื่อป้องกันโรคไต โรคนิ่ว โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบในสัตว์เลี้ยงของท่าน สามารถซื้อชุดตรวจปัสสาวะแมว (ราคาประมาณ 130 บาท) ที่ร้านขายของสัตว์เลี้ยงและเพจ Hide and Seek Cat Litter สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร 095 791 4525
ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ