ม.มหิดลแนะออกกำลังกายแบบแอโรบิก'ต่อลมหายใจและชีวิต'ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

พฤหัส ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ๐๘:๑๐
ในทางอารมณ์และจิตใจ "สารโดปามีน" จัดเป็น "สารแห่งความสุข" แต่ในทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ระดับ "สารโดปามีน" ที่ลดลงอาจหมายถึง "ความเสี่ยง" ต่อการเกิด "โรคพาร์กินสัน"
ม.มหิดลแนะออกกำลังกายแบบแอโรบิก'ต่อลมหายใจและชีวิต'ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กภ.เฟื่องฟ้า ขอบคุณ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชากายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงอาการสำคัญของ "โรคพาร์กินสัน" คือ "การเคลื่อนไหวที่ช้าลง" ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเสื่อมของเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้จากผู้ที่เคยมีการเคลื่อนไหวที่ปกติ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ต้องประสบกับการเคลื่อนไหวช้า ร่วมกับอาการสั่นขณะพัก อาการแข็งเกร็ง ปัญหาการทรงตัว และการเดินที่ผิดปกติโดยไม่รู้ตัว

เดิมพบว่า "โรคพาร์กินสัน" เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ในเบซัลแกงเกลีย (Basal Ganglia) ที่สร้างสาร "โดปามีน" ทำให้เกิดการ "ขาดสมดุล" ของวงจรประสาทมที่เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้น และยับยั้งการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่ปัจจุบันมีการค้นพบเพิ่มเติมว่า "ความเสื่อมของระบบประสาทอัตโนมัติส่วนปลายที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้" ซึ่งทำให้เกิด "อาการท้องผูก" อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนถึงอาการเริ่มต้นของ "โรคพาร์กินสัน"

"โรคพาร์กินสัน" มีอาการแสดงที่แตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งการพิจารณาให้การรักษา และกายบำบัดด้วย "การออกกำลังกาย" อาจมีข้อจำกัดหากเกิดอาการโรคร่วมอื่น เช่น "ความดันโลหิตสูง" และ "โรคหัวใจ"
โดยการออกกำลังกายนอกจากจะมีส่วนช่วยให้สมองหลั่ง "สารโดปามีน" ให้จิตใจเป็นสุข และเกิดสมดุลของวงจรประสาทแล้ว หากเป็น "การออกกำลังกายแบบแอโรบิก" จะดีต่อทั้งหัวใจ และเสริมสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วยให้มีการเคลื่อนไหวที่สมดุลมากขึ้น

จากการศึกษาพบว่า การฝึกเดินร่วมกับการใช้สื่อนำ (cue) หรืออุปกรณ์ การฝึกเคลื่อนไหวลมปราณแบบจีน รวมทั้งการฝึกเคลื่อนไหวตามจังหวะเพลง สามารถช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่มีอาการแรกเริ่ม ก่อนเกิดอาการรุนแรงได้
ด้วยประสบการณ์ตรงทางคลินิกของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กภ.เฟื่องฟ้า ขอบคุณ ได้นำไปสู่การค้นพบว่า การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันแบบแอโรบิก ด้วยการเดินบนลู่วิ่งไฟฟ้า หากควบคู่กับการเดินบนพื้นราบ จะทำให้การเดินของผู้ป่วยมีความเป็นธรรมชาติ มากกว่าการให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันฝึกเดินด้วยลู่วิ่งไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว
ซึ่งการเดินแบบธรรมดา เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่ใช้เพียงรองเท้าและเสื้อผ้าแบบสบายๆ โดยสามารถทำได้ทั้งในร่ม และกลางแจ้ง ทั้งนี้การเดินแม้เป็นวิธีการที่ง่าย และประหยัด แต่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการล้มในกลุ่มผู้ป่วยโรคพาร์กินสันระดับความรุนแรงปานกลาง หรือค่อนข้างมาก

เมื่อเทียบกับ "ธาราบำบัด" ที่แม้มีข้อดีตรงที่ใช้ "น้ำ" ช่วยพยุงข้อต่อ และ "ลดแรงกระแทกขณะเคลื่อนไหว" แต่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแล ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า เสี่ยงต่อการลื่นล้มระหว่างการขึ้นลงสระ สำลักน้ำระหว่างฝึก หรือติดเชื้อที่ผิวหนังหากเป็นแผล

อย่างไรก็ดี Parkinson Foundation แห่งสหราชอาณาจักร ร่วมกับ The American College of Sports and Medicine ได้แนะนำการออกกำลังกายแบบแอโรบิกสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันว่า ควรทำอย่างต่อเนื่องรวม 150 นาทีต่อสัปดาห์ จากการออกกำลังกายวันละ 30 - 60 นาที จำนวน 3 - 5 วันต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ควรฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การทรงตัว ความคล่องตัว ฝึกกิจกรรมต่างๆ และยึดกล้ามเนื้อร่วมด้วย

ตัวอย่างการออกกำลังกายผู้ป่วยสูงวัยโรคพาร์กินสัน ระยะต้น - ปานกลาง ซึ่งเข้ารับการบำบัดด้วยปัญหาการเดินที่ไม่คล่องตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องหมุนหรือเปลี่ยนทิศทาง จากการให้ผู้ป่วยได้ฝึกการเคลื่อนไหว การทรงตัว การเดิน ตลอดจนเพิ่มความแข็งแรง - ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ต่อเนื่อง 4 - 8 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น คุณภาพการเดินที่ดีขึ้น การหมุนตัวและก้าวเดินเป็นธรรมชาติมากขึ้น จนลดความถี่ในการเข้ารับการทำกายภาพบำบัด และได้ใช้เวลาในการทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวในวันหยุดได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

เคล็ดลับการฝึกที่น่าสนใจ อาทิ การเพิ่มความก้าวหน้าของการฝึกทรงตัว ผ่านการจินตนาการทำท่าคล้ายปาลูกบอลข้างหน้า เพื่อสร้างความเพลิดเพลินระหว่างการฝึกจังหวะและความเร็วในการเดินโดยใช้เสียงกำกับ ตลอดจนฝึกเปลี่ยนทิศทางการเดินทั้งแบบกำหนดจุด และไม่กำหนดจุด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน
สำหรับการให้บริการของศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล จะจัดโปรแกรมให้เฉพาะผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แล้วเท่านั้น

ก่อนมาเข้ารับการประเมินสมรรถภาพตามระดับความรุนแรงของโรคผ่าน "คู่มือ" ที่นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานโดยคณะกายภาพบำบัด ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ด้วยการแก้ไขปัญหาแบบ "Task Oriented Approach" ตามความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติแบบเฉพาะจุด

โดยมุ่งดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย เพื่อให้เข้าถึงเป้าหมายของการทำบำบัดอย่างยั่งยืน
ติดต่อนัดหมายเพื่อเข้ารับบริการได้ที่ ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โทร. 0-2441-5450 และที่ ศูนย์กายภาพบำบัด ปิ่นเกล้า คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 06-3520-5151
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

ม.มหิดลแนะออกกำลังกายแบบแอโรบิก'ต่อลมหายใจและชีวิต'ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ