โดยปัจจุบัน เรือนจำกลางยะลา ได้น้อมนำโครงการพระราชทานฯ โดยจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว "โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์" บนพื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน ซึ่งเป็นโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยผู้ต้องขังที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ได้ฝึกอบรมการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่หลากหลายทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่การปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ลงในพื้นที่ โดยมีการประยุกต์ใช้อย่างน้อย 15 ทฤษฎี ได้แก่ เกษตรทฤษฎีใหม่ แฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ฝายชะลอความชุ่มชื้น คลองก้างปลา คลองไส้ไก่ กังหันน้ำชัยพัฒนา การคลุมดิน ปุ๋ยพืชสด เลี้ยงดินให้พืช หลักกสิกรรมธรรมชาติ ปลูกป่าในใจคน ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การจัดการพื้นที่เลียนแบบธรรมชาติ เป็นต้น แต่ด้วยสภาพพื้นที่ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ เนื้อดินมีลักษณะเป็นดินทรายแป้งละเอียดลึกมาก มีการระบายน้ำดี และดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ พบปัญหาเมื่อปั้นโคกแล้วดินพัง และเมื่อขุดหนองน้ำ ดินบริเวณรอบขอบหนองน้ำก็เลื่อนไหลแล้วตกลงไปในหนองน้ำทำให้หนองน้ำตื้นเขิน ประกอบกับเมื่อดำเนินการปลูกพืชหน้าดินจะแห้งเร็วมากทำให้พืชไม่เจริญเติบโตมีลักษณะแคระแกร็น
นายอาทิตย์ ภูมิหึงษ์ ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินยะลา เปิดเผยว่า ลักษณะดินในเรือนจำชั่วคราวสะเตง จัดอยู่ในกลุ่มชุดดินที่ 32 เป็นชุดดินลำแก่น การกำเนิดของดินเกิดจากตะกอนน้ำพามาทับถมอยู่บนตะพักลำน้ำใหม่หรือสันดินริมน้ำ เป็นดินทรายแป้งละเอียดลึกมาก ข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินคือ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ โดยกรมพัฒนาที่ดิน มอบหมายให้สถานีพัฒนาที่ดินยะลา เข้าไปปรับปรุงดินด้วยพืชปุ๋ยสดหรือปรับปรุงหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยเคมีและน้ำหมัก พด.2 ปลูกพืชคลุมดิน ทำแนวรั้วหญ้าแฝกหรือฐานหญ้าแฝกเฉพาะต้น พัฒนาแหล่งน้ำไว้ใช้ในช่วงที่พืชขาดน้ำ พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำของกรมพัฒนาที่ดิน ทั้งมาตรการวิธีกลและวิธีพืช ดังนี้
มาตรการวิธีกล แนะนำเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางยะลา เมื่อขุดคลองไส้ไก่และขุดหนองน้ำตามแนวทางของทฤษฎีของ โคก หนอง นา เสร็จแล้วใช้ผ้าห่มผู้ต้องขังที่หมดอายุชุบกับปูนซีเมนต์ (ผ้าห่มคอนกรีต) เกิดเป็นผ้าห่มคอนกรีตที่มีความแข็งแรงแต่มียืดหยุ่น สามารถปรับขึ้นรูปตามแต่ละสภาพพื้นที่ และนอกจากนี้นำไม้ไผ่มาผ่าซีกแล้วทุบตรงส่วนข้อไม้ไผ่ให้แหลกทั้งลำจนสามารถกดทับให้แบนได้ แล้วนำไม้ไผ่ประกอบกันให้เป็นร่องสี่เหลี่ยมตามแนวที่ต้องการ จากนั้นจะนำดินที่ได้จากการขุดคลองไส้ไก่ไปใส่ในร่องไม้ไผ่สี่เหลี่ยมเพื่อปั้นเป็นโคก
ส่วนมาตรการวิธีพืช แนะนำให้เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางยะลานำหญ้าแฝกมาปลูกรอบขอบคลองไส้ไก่และรอบขอบหนองเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของขอบหนองน้ำและคลองไส้ไก่ อีกทั้งเพื่อกรองตะกอนดินไม่ให้ตกลงไปในหนองน้ำช่วยไม่ให้หนองน้ำตื้นเขิน และยังมีการปลูกหญ้าแฝกรูปแบบอื่น ๆ เช่น ปลูกหญ้าแฝกเป็นวงกลมรอบต้นไม้เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่พืชที่ปลูกภายในศูนย์เรียนรู้ฯ ปลูกหญ้าแฝกรอบขอบแปลงที่ยกร่อง เพื่อให้รากของหญ้าแฝกช่วยยึดดินไม่ให้พังทลายและรักษาความชื้นในดินเอาไว้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางยะลายังได้ตัดใบหญ้าแฝกมาคลุมดินเป็นการป้องกันการระเหยของความชื้นที่อยู่ในดินและเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ จุลินทรีย์ที่ชอบอยู่ในที่มืดที่มีความชุ่มชื้นซึ่งจะทำให้จุลินทรีย์ทำงานและขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลทำให้ดินมีความสมบูรณ์ และยังมีการนำใบหญ้าแฝกมาทำเป็นปุ๋ยหมักไว้ใช้ปรับปรุงบำรุงดินอีกด้วย
นายปริญญา ศรีธัญญแก้ว ผู้บัญชาการเรือนจำกลางยะลา เปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันเรือนชั่วคราวสะเตง สามารถใช้พื้นที่ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ ทำกิจกรรมด้านการเกษตรกรรมได้ผลผลิตในระดับที่น่าพึงพอใจ มีการปรับปรุงดินจนดินดีขึ้นมาก ทำให้มีบุคคลและหน่วยงานภายนอกเข้าศึกษาดูงาน นอกจากนี้เรือนจำชั่วคราวสะเตงได้จัดทำแปลงขยายพันธุ์หญ้าแฝก พันธุ์สุราษฎร์ธานี บนพื้นที่ขนาด 2 งาน เพื่อใช้สำหรับแจกจ่ายให้แก่ผู้ต้องขังที่พ้นโทษหรือเกษตรกรรวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจนำกล้าหญ้าแฝกไปปลูกในพื้นที่ตนเอง และในอนาคตจะดำเนินการแปรรูปจากใบหญ้าแฝกเป็นงานหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมศูนย์ฝึกวิชาชีพของเรือนจำกลางยะลาต่อไป
ทั้งนี้ สถานีพัฒนาที่ดินยะลา พร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนศูนย์การเรียนรู้โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว "โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์" ในเรือนจำชั่วคราวสะเตง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกแห่งใหม่ของจังหวัดยะลา นายอาทิตย์ ภูมิหึงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: กรมพัฒนาที่ดิน