ผู้ร่วมเสวนาสะท้อนบทบาทต่าง ๆ ของแต่ละองค์กรในการสนับสนุนการพัฒนาตลาดคาร์บอนในประเทศ โดยนางกลอยตาได้สะท้อนบทบาทของบางจากฯ ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050 โดยมีการสร้าง Net Zero Ecosystem เพื่อรองรับการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงการจัดตั้ง Carbon Markets Club เมื่อ 3 ปีที่แล้วเพื่อสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต รองรับการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ในระดับสากล อาทิ CBAM สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตสภาวะภูมิอากาศ โดยการทำงานร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1,000 ราย ทั้งประเภทองค์กรและบุคคลที่พร้อมจะร่วมขับเคลื่อนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะมีส่วนช่วยไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดคาร์บอนในประเทศมีความตื่นตัวและมีแนวโน้มการซื้อขายมากขึ้น รวมถึงโอกาสที่จะขยายตัวของตลาดจาก พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะบังคับใช้ในอนาคต แต่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดของโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ที่ใช้ได้ในประเทศ รวมทั้งตลาดคาร์บอนยังมีความกระจัดกระจาย จึงเห็นว่า ประเทศในภูมิภาคอาเซียนควรสร้างความเข้มแข็งด้วยการพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตร่วมกันในระดับภูมิภาค ยกระดับคาร์บอนเครดิตไปสู่ระดับอาเซียน เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อช่วยให้ผู้ส่งสินค้าออกข้ามพรมแดน มีแผนการลดและชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ได้รับการยอมรับจากคู่ค้าในต่างประเทศ
นางกลอยตากล่าวถึงความท้าทายของตลาดคาร์บอน โดยเปรียบเทียบกับภูเขาน้ำแข็ง (The Carbon Markets Iceberg) ว่า หากเปรียบประโยชน์ของตลาดคาร์บอนเป็นส่วนของภูเขาน้ำแข็งที่เห็นได้ชัดเจนอยู่เหนือน้ำ นับว่ามีหลายด้าน เช่น ผลดีด้านสิ่งแวดล้อม จากการลดก๊าซเรือนกระจก การกระตุ้นการลงทุนในแหล่งพลังงานทดแทน โอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น การสร้างตลาดใหม่และการสร้างงาน และการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร เป็นต้น ในขณะที่หากเปรียบความท้าทายเป็นส่วนที่มองไม่เห็นอยู่ใต้น้ำ ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อก้าวข้ามความท้าทายเหล่านั้น เช่น กฎระเบียบและมาตรฐานที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างภูมิภาคและประเทศ ความซับซ้อนในการตรวจสอบและการตรวจวัด ที่อาจก่อให้เกิดการฉ้อโกงและการจัดการที่ผิดพลาด ความผันผวนของตลาดและตลาดที่ยังเป็นตลาดของผู้ซื้อ ทำให้ราคาคาร์บอนเครดิตยังไม่สูงนัก รวมถึงการรั่วไหลของคาร์บอน ทำให้การลดการปล่อยคาร์บอนในพื้นที่หนึ่งอาจทำให้เพิ่มขึ้นในที่อื่น และปัญหาด้านกฎระเบียบและนโยบาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของนโยบายอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความสามารถในการคาดการณ์ของตลาด เป็นต้น
นอกจากนี้ นางกลอยตา ได้กล่าวถึงบทบาทของบางจากฯ ในการร่วมสร้างความตระหนักรู้ให้กับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ สหกรณ์การเกษตร ให้สามารถพัฒนาโครงการและซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างเป็นรูปธรรม เช่น จัดตั้งเครือข่ายสหกรณ์ลดโลกร้อน ส่งเสริมการติดโซลาร์รูฟท็อป และจัดทำโครงการพรรณดี โดยจัดการอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการสวนยางพาราและพืชเกษตรยืนต้นอื่น ๆ ในการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต ร่วมสร้างตลาดคาร์บอนจากภาคการเกษตรซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก
ภายในงาน ได้จัดให้มีกิจกรรม Business Matching จับคู่ธุรกิจ ซึ่งบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มบริษัทบางจาก ในฐานะผู้ขายคาร์บอนเครดิตได้ร่วมพบปะเจรจากับผู้สนใจ ด้วย
ที่มา: บางจาก คอร์ปอเรชั่น