คุณยิ่งยง นิลเสนา นายก สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) องค์กรตัวแทนผู้ถือหุ้นรายบุคคลทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน เพื่อความยั่งยืน ที่อยู่คู่ตลาดทุนไทยมากว่า 35 ปี เปิดเผยว่า สมาคมยังคงเดินหน้าให้ความรู้ เรื่อง การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) อย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 5 จัดที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นศูนย์กลางของทนายความภาค 3 ครอบคลุม 8 จังหวัดประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี,จังหวัดยโสธร,จังหวัดอำนาจเจริญ,จังหวัดศรีสะเกษ,จังหวัดสุรินทร์,จังหวัดบุรีรัมย์ ,จังหวัดนครราชสีมา,จังหวัดชัยภูมิ จากที่ผ่านมาดำเนินการมาแล้ว 4 จังหวัด และยังคงได้รับความสนใจจาก ทนายความอาชีพเข้าร่วมอบรมเกือบ 200 ราย ซึ่งรวมกับการสัญจรที่ผ่านมา มีทนายความอาชีพ ผ่านการอบรมแล้ว กว่า 700 คน
คุณสิริพร จังตระกูล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) กล่าวว่า การจัดสัญจรปีนี้ ทาง TIA ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณทั้งหมดจาก กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เป้าหมายของการจัดสัญจรให้ความรู้เชิงลึกทั้งทางทฤษฎีและแนวทางปฎิบัติและการนำมาใช้ในอาชีพจริง ให้กับทนายความอาชีพทั่วประเทศไทย ในการนำกฎหมาย Class Action มาใช้ในตลาดทุนไทย เพื่อเป็นเครื่องมือในการดูแลและปกป้องนักลงทุน ดังนั้นการเติมความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อเป็นส่วนสำคัญให้การบังคับใช้กฏหมายมีประสิทธิภาพ
เลขาธิการ TIA กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนความคืบหน้าในการยกร่างศูนย์ให้ความช่วยเหลือ มีความคืบหน้ามากและคาดว่า จะยกร่างแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้ และเป็นการดำเนินการภายใต้แนวคิดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต) ที่ให้มีศูนย์ฯเพื่อดูแลช่วยเหลือนักลงทุน
คุณวีระศักดิ์ บุญเพลิง ประธานกรรมการบริหาร สภาทนายภาค 3 กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ TIA ที่มาสัญจรภาคอีสาน นำความรู้มาเผยแพร่ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และทนายความอาชีพ สามารถนำความรู้ที่เกิดขึ้นจากการอบรม มาใช้เป็นประโยชน์ในอาชีพ และเป็นไปตาม MOU ที่สภาทนายความ ฯ ได้ทำไว้ กับทาง TIA ซึ่งการจัดสัญจรให้ความรู้ จะเป็นการพัฒนาความรู้ทางด้านวิชาการ นำความรู้ไปคุ้มครองประชาชน ที่ได้รับความเสียหาย ทั้งจากคดีที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน คดีคุ้มครองผู้บริโภคและคดีสิ่งแวดล้อม ที่สามารถนำกฎหมาย Class Action ไปใช้ได้ และทำให้ทนายความมืออาชีพมีความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพได้
ท่านพงษ์เดช วานิชกิตติกูล รองประธานศาลอุทธรณ์ และช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้บรรยาย ให้ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคดีกลุ่มกับทนายอาชีพที่เข้าร่วมอบรม ว่า บทบาทของ กฎหมาย Class Action จะมีความสำคัญมากขึ้นในยุคนี้ ที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งประเทศไทยเรามีกฎหมายนี้มาตั้งแต่ปี 2558 ดังนั้นการที่ TIA จัดโครงการอบรมถือเป็นเรื่องที่ดี และกฎหมายแรื่องหลักทรัพย์ถือว่าดีและมีประโยชน์มากเพราะดูแลคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยได้
อย่างไรก็ตามคดีที่จะเข้าลักษณะการดำเนินคดีแบบกลุ่ม คือ สิทธิผู้บริโภค ,หลักทรัพย์และการแข่งขันทางการค้า ,สิ่งแวดล้อม ,คดีละเมิดที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก และสิทธิพลเมือง เป็นต้น
ขณะที่กลุ่มบุคคลที่จะเข้าลักษณะการดำเนินคดีแบบกลุ่ม คือบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปไม่จำกัดจำนวนสูงสุด สิทธิเรียกร้องต่อจำเลยต้องเหมือนกัน อาศัยข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกัน ความเสียหายของแต่ละคนไม่เหมือนและไม่เท่ากันได้
"นับตั้งแต่เริ่มที่จะดำเนินคดีแบบกลุ่มขอแนะนำให้ทำรายละเอียดทั้งหมดของกลุ่มบุคคลที่เข้ามา และทำรายการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการทำคดีทั้งหมด เพราะ เมื่อถึงวันที่ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ประเด็นเหล่านี้ก็ต้องพร้อมที่จะเปิดเพื่อการพิจารณา เพราะตามกฎหมายนั้นผลตอบแทนของคดีที่จะได้รับ 30% ของมูลฟ้องนั้นทนายความจะต้องถูกนำมาพิจารณาทั้งหมด"
ท่านสรวิศ ลิมปรังษี ผู้พิพากษา หัวหน้าศาล ประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า คดีหลักทรัพย์มีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับลักษณะความเสียหาย
นอกจากนี้คดีเกี่ยวกับการหลอกให้ลงทุนในคริปโท แบบไม่ได้รับอนุญาตก็สามารถเข้ามาสู่การดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ ซึ่งกรณีนี้ได้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาแล้ว
อย่างไรก็ตามอีกประเด็นที่สำคัญ ผู้ที่จะเป็นโจทก์และเป็นสมาชิกกลุ่มจะต้องเก็บเอกสารที่เกิดขึ้นในคำสั่งซื้อขายไว้เป็นหลักฐานด้วย
นอกจากนี้การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะมีประโยชน์โดยรวมมากเพราะเป็นการดำเนินการครั้งเดียวแต่คำพิพากษาจะครอบคลุมทั้งหมด ทั้งผู้เสียหายที่เป็นสมาชิกกลุ่มและไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม บนสิทธิ และข้อเท็จจริงเหมือนกัน ภายใต้หลักกฎหมายเดียวกัน รวมทั้งมีระยะเวลาที่เร็วกว่าและค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการดำเนินคดีตามขบวนการตามปกติ
อย่างไรก็ตามการดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีหลักทรัพย์ การแบ่งกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญมากในการทำคดีซึ่งในกรณีซื้อขายหลักทรัพย์จะแบ่งได้ 3 กลุ่มคือ กลุ่มคนที่เข้าซื้อหุ้น และยังคงถือหุ้นอยู่เต็มจำนวนที่ซื้อ 2. คนที่เข้าซื้อก่อนและระหว่างทางมีการขายออกแต่ไม่ได้ขายทั้งหมดและยังมีหุ้นถืออยู่ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีความยากในการคิดและประเมินมูลค่า และ 3. ขายหุ้นออกทั้งหมดแล้ว ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนิติบุคคลที่เข้าลงทุนหุ้นที่มีปัญหาซึ่งกลุ่มนี้จะมีการจัดการเพราะมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการจัดการก่อนเมื่อเห็นว่าเกิดปัญหา
นอกจากนี้ในการประชุมร่วมกันระหว่างศาลในอาเซียนมีการคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนและขอข้อมูลระหว่างกันเพราะมีการกระทำผิดที่เชื่อมโยงกัน มากขึ้นเช่นกรณีซิปแม็ก เป็นต้น
ที่มา: สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย