นางจิตรา หมีทอง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสร้างความมั่นใจ ให้แก่นักท่องเที่ยว ยกระดับการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างงานให้กับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งอาหารไทยได้รับการยอมรับ และความนิยมไปทั่วโลก โดยเฉพาะอาหารริมบาทวิถี หรือ "สตรีทฟู๊ด (Street food)" ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ ดังนั้น การพัฒนาและยกระดับสตรีทฟู๊ดให้ได้มาตรฐาน SAN & SAN Plus ทั้งสถานที่ อาหาร ภาชนะบรรจุอาหาร บุคคล สัตว์และแมลงนำโรค ที่จะต้อง"สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน" สู่ระดับสากล เทียบเท่าเครื่องหมายมิชลิน ที่ได้รับการยอบรับและเชื่อมั่นด้านความอร่อยจากทั่วโลกเพราะนอกจากจะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดีจากการบริโภคอาหารแล้วยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศได้อีกด้วย ซึ่งการดำเนินการยกระดับสตรีทฟู๊ดจะประสบผลสำเร็จได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ขอความร่วมมือจากผู้บริโภคและผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับมาตรฐาน SAN และ SAN Plus
ทางด้าน นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและภาวะเศรษฐกิจ ประชาชนนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้บริการแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีหรือที่เรียกกันว่า "Street Food" เนื่องจากมีความสะดวก เข้าถึงง่าย มีความหลากหลายของเมนูอาหาร ซึ่งการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยจากเชื้อโรคและสารเคมี จึงมีความสำคัญ เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค
ทั้งนี้ กรมอนามัยและภาคีเครือข่ายได้ดำเนินการขับเคลื่อนการยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีไทย สู่สากล (Thai Street Food Good Health from Local to Global) เพื่อยกระดับพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย โดยคัดเลือก "ตลาดจีนชากแง้ว" เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง ในการขับเคลื่อนมาตรฐานสุขาภิบาลอาหารภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ "สะอาด ปลอดภัยได้มาตรฐาน" SAN&SAN Plus โดยพัฒนาอาหารริมบาทวิถี 4 มิติ ได้แก่ 1) มิติสุขภาพ มุ่งเน้นทางด้านการจัดการสุขาภิบาลอาหาร ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร ผ่านการอบรม 2) มิติเศรษฐกิจ การแสดงป้ายราคา รายการเมนูหลายภาษา และการประชาสัมพันธ์ 3) มิติสังคม สร้างความร่วมมือของผู้ประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชน มีระบบรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และ 4) มิติวัฒนธรรม เป็นการสื่อสารอาหารพื้นถิ่นอันเป็นอัตลักษณ์ รวมทั้งการแต่งกายประจำถิ่น
ที่มา: กรมอนามัย