ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา ศรีโพธิ์ เลขาธิการสมาคมฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาภายหลังการสู้รบเมื่อปี พ.ศ 2564 ซึ่งเกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่องกับประชากร ส่งผลให้มีผู้หนีภัยการสู้รบไปยังประเทศต่างๆที่มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา โดย UNHCR คาดประมาณว่ามีผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมาอย่างน้อย 100,000 คน หลบหนีภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทย สมาคมฯ ตระหนักถึงอุปสรรคสำคัญและข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล และบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินของประชากรผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิง โดยเฉพาะสตรีและเด็กหญิงที่เผชิญกับความเสี่ยงจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ความรุนแรงทางเพศและเพศสภาพ (SGBV) สมาคมฯ จึงได้ริเริ่มโครงการ "การตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ของผู้หนีภัยจากพื้นที่ชายแดนเมียนมา" ในพื้นที่จังหวัดตาก ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าสองยาง อำเภอพบพระ และอำเภอแม่สอด โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก Japan Trust Fund (JTF) มีระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือน
โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมความรู้ และบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ให้กับประชากรผู้หนีภัยการสู้รบจากความขัดแย้งในเมียนมา เข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา และนอกศูนย์พักพิงชั่วคราว จำนวน 6,000 คน และส่งมอบบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์แก่ผู้หนีภัยการสู้รบจำนวน 2,000 คน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย เลขาธิการสมาคมฯ กล่าวต่ออีกว่า ในนามของ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯขอขอบคุณองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งจากในและต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย สถานทูตญี่ปุ่น Japan International Cooperation Agency (JICA) สหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ และ UNHCR ที่ร่วมกันทำงานด้านสิทธิมนุษย์ โดยไม่เลือกปฏิบัติ มาอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี