เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือใน "โครงการสินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง" โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติเป็นสักขีพยานความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงไทย และกระทรวงการคลังโดย 9 หน่วยงานในสังกัด ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ กรมบัญชีกลาง กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ 7 สหกรณ์ในสังกัด เพื่อช่วยเหลือข้าราชการกลุ่มเปราะบาง แก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยนโยบายของนายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกกลุ่ม จึงขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือแก้ไขปัญหาหนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือข้าราชการเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะข้าราชการกลุ่มเปราะบาง ที่มีภาระหนี้สูง เงินเดือนถูกหักเงินไปใช้หนี้จนเกือบหมด มีเหลือใช้ในแต่ละเดือนไม่ถึง 30% ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ทำให้ต้องไปกู้เพิ่มเพื่อมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จนมีหนี้อยู่หลายแห่ง กระจัดกระจาย และอยู่ในวงจรหนี้ไม่จบไม่สิ้น
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ลดภาระการเงิน ปิดจบหนี้เรื้อรังได้เร็วขึ้น ซึ่งทางกระทรวงการคลังพร้อมบูรณาการหน่วยงานในสังกัด ให้เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาหนี้ และสร้างวินัยทางการเงินให้แก่หน่วยงานอื่นๆ โดยปัจจุบัน กระทรวงการคลัง มีข้าราชการภายใต้หน่วยงานในสังกัด รวมจำนวนราว 36,000 คน ซึ่งปัญหาของข้าราชการกลุ่มเปราะบาง คือ มีเจ้าหนี้มากกว่า 1 ราย ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ มีเงินเดือนเหลือไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ภายใต้ความร่วมมือใน "โครงการสินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง" จะช่วยให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง สามารถรวมหนี้ทุกประเภทมาไว้ที่ธนาคารกรุงไทยที่เดียว โดยได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่ตลอดอายุสัญญา และมีระยะผ่อนชำระยาวขึ้น ทำให้มีเงินได้รายเดือนคงเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ ส่งเสริมวินัยทางการเงิน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง ธนาคารกรุงไทยสนับสนุนนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลังอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาหนี้ข้าราชการกลุ่มเปราะบางที่มีเงินเดือนเหลือหลังหักภาระหนี้ไม่ถึง 30% ผ่าน "โครงการสินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง" ซึ่งนับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ ตอกย้ำเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้บริหารกระทรวงการคลัง รวมถึงความมุ่งมั่นของธนาคารกรุงไทย ในการเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับข้าราชการสังกัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจประเทศ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสภาพคล่องเหลือเพียงพอในการดำรงชีพ และสามารถปลดภาระหนี้ได้เร็วขึ้น
"สินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง" สำหรับข้าราชการที่ในอนาคตจะมีสิทธิได้รับหนังสือรับรองสิทธิบำเหน็จตกทอดจากกรมบัญชีกลางเมื่อเกษียณอายุ และมีสิทธิจะได้รับบำนาญรายเดือนหลังเกษียณอายุโดยสามารถรวมหนี้รายย่อยทุกประเภท ทั้งสินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต และสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ จากทั้งธนาคารกรุงไทยและสถาบันการเงินอื่นๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- สินเชื่อแบบใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งสินเชื่อบ้าน (พร้อมขอกู้เพิ่ม) และสินเชื่อบ้านแลกเงิน (พร้อมขอกู้เพิ่ม) อัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่ 3.50% ต่อปี 3 ปีแรก หลังจากนั้น อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.75% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา (อัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา 4.49% ต่อปี โดยคำนวณจากวงเงินกู้ 1 ล้านบาท อายุสัญญาสูงสุด 40 ปี ผ่อนชำระ 4,700 บาท/เดือน) โดยได้รับยกเว้นค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ประกัน
- สินเชื่อแบบไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยคงที่ 6.75% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา เงื่อนไขและเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
จุดเด่นโครงการ
- สามารถร่วมใช้บริการทางการเงินกับสหกรณ์ที่ข้าราชการเป็นสมาชิก (Co-Exist) โดยที่ให้มีเงินเหลือใช้เพื่อดำรงชีพไม่น้อยกว่า 30% และยังสามารถหมดหนี้ได้หลังเกษียณ
- อัตราดอกเบี้ยต่ำ "คงที่" ตลอดอายุสัญญา ไม่ผันผวนไปตามทิศทางของดอกเบี้ย วางแผนการบริหารหนี้ระยะยาวและสภาพคล่องได้ดียิ่งขึ้น
- ขยายระยะเวลาคืนหนี้ และอายุผู้กู้ ให้สามารถชำระได้สูงสุดถึงอายุ 80 ปี จากเดิมกำหนดอายุถึง 60 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับข้าราชการ
- สร้างวินัยการเงิน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน ในระหว่างเข้าร่วมมาตรการฯ ลูกหนี้จะเข้าร่วมแสดงเจตนารมณ์ไม่ก่อหนี้เพิ่ม โดยธนาคารร่วมมือกับเครดิตบูโร ซึ่งได้พัฒนาเครื่องมือในการแจ้งเตือน หากลูกหนี้มีการก่อหนี้เพิ่มและร่วมมือกับสหกรณ์ในการแชร์ข้อมูลสถานะหนี้ โดยได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ ตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (iLock Bureau)
- โปรแกรมตรวจสุขภาพทางการเงิน เป็นเครื่องมือตรวจสุขภาพทางการเงินออนไลน์ที่จะช่วยให้ทราบสถานะทางการเงินเพื่อช่วยวางแผนเริ่มต้นจัดการหนี้ได้ง่ายๆผ่าน https://krungthai.com/link/รวมหนี้ยั่งยืน
โครงการนี้ฯ เป็นการขยายความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหนี้ข้าราชการกลุ่มเปราะบาง ภายใต้ "โครงการสินเชื่อรวมหนี้ข้าราชการยั่งยืน" ที่ธนาคารกรุงไทยได้ออกแบบ เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งหลายเรื่อง เป็นปัญหาที่หมักหมมเป็นเวลานาน ตอบโจทย์การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศที่อยู่ในระดับสูง 90.8% ต่อ GDP ซึ่งยังไม่รวมถึงหนี้นอกระบบ เพื่อให้การช่วยเหลือข้าราชการได้อย่างตรงจุด ทันการณ์ สามารถแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวได้ สอดคล้องกับแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่อยากเห็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงเกิดเป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วน อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมบัญชีกลาง และ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) รวมถึงสหกรณ์ที่ข้าราชการเป็นสมาชิก ผลักดันให้การแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ โดยใน 3 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารจับมือกรมส่งเสริมสหกรณ์เดินสายไปแล้วกว่า 10 จังหวัด มีความร่วมมือกับสหกรณ์กว่า 550 แห่ง มีลูกค้าข้าราชการสนใจติดต่อเข้าร่วมโครงการกว่า 10,000 คน โดยมียอดหนี้เฉลี่ย 1.64 ล้านบาทต่อคน และเตรียมความพร้อมในการขยายความร่วมมือกับสหกรณ์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นธนาคารได้เตรียมวงเงินสำหรับโครงการนี้ไว้แล้ว 5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะช่วยเหลือข้าราชการได้ประมาณ 50,000 คน และพร้อมขยายวงเงินตามความจำเป็น อีกทั้ง ปัจจุบันธนาคารยังมีวงเงินสนับสนุนสหกรณ์ทั้งระบบอยู่ถึงเกือบ 140,000 ล้านบาท
ธนาคารกรุงไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว ตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคาดหวังว่าจากความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง หลุดพ้นวงจรหนี้ ดำรงชีพได้อย่างเหมาะสม] มีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ผู้ที่สนใจ สามารถขอคำแนะนำการแก้หนี้อย่างยั่งยืนได้ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา หรือ Krungthai Contact Center 02 111 1111 กด 99
ที่มา: ธนาคารกรุงไทย