คุณจิตสถา ศรีประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการรองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีผลผูกพันและใชับังคับได้ตามกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2544 แล้ว ที่ตอนนี้ได้มีหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ได้มีความเข้าใจและนำหลักการของกฎหมายนี้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานกันมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายภาคส่วนยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น อาจเกิดจากความไม่มั่นใจในความถูกต้องของการตีความทางกฎหมาย จนหลายครั้งต้องพึ่งพาความเห็นจากหน่วยงานราชการหรือบริษัทที่ปรึกษากฎหมายเข้ามาช่วยพิจารณา อีกทั้ง กฎหมายในหลายๆ ฉบับก็ยังมีการเชื่อมโยงมายังกฎหมายธุรกรรมฯ อีกด้วย
ดังนั้น ETDA ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ได้เห็นถึงความสำคัญของการบังคับใช้ตามกฎหมายดังกล่าว จึงได้ร่วมกับพาร์ทเนอร์ ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมสรรพากร สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท สำนักกฎหมาย ดำเนิน สมเกียรติ และบุญมา จำกัด รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายไม่ว่าจะเป็น อัยการ ผู้พิพากษา ทนายความ ในการจัดแคมเปญ "การแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์โดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์ หรือ e-Transaction Law Moot Court Competition 2024" ขึ้นเป็นปีแรก เพื่อเป็นเวทีในการสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนิสิต นักศึกษาสายกฎหมาย ได้ฝึกฝนทักษะในการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์ ภายใต้บริบทของกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
กิจกรรม e-Transaction Law Moot Court Competition 2024 เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 หลังเปิดรับสมัครเพียงไม่นานก็มีทีมว่าที่นักกฎหมายจากหลากหลายสถาบันเข้าร่วมสมัครแข่งขันจำนวนมากถึง 59 ทีม ซึ่งทุกทีมได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมอบรมภาคทฤษฎี โดยผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้านจากหลากหลายหน่วยงานอย่างเข้มข้นเพื่อเตรียมพร้อมสู่เส้นทางอาชีพนักกฎหมายยุคดิจิทัลในอนาคต ก่อนเข้าสู่การแข่งขันในรอบคัดเลือกทั้ง 2 รอบ โดยรอบที่ 1 เป็นการแข่งขันในรูปแบบ "สรุปย่อคำแถลงการณ์" จากโจทย์ที่ว่าด้วยเรื่องของสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ ที่คัดให้เหลือ 8 ทีมจาก 59 ทีม เพื่อไปสู่การอบรมภาคปฏิบัติหรือ Workshop ก่อนที่จะไปแข่งขันกันในรอบที่ 2 ซึ่งเป็นการแข่งขันด้วย "การแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์" ในรูปแบบออนไลน์ ที่คัดให้เหลือ 4 ทีมสุดท้ายจาก 8 ทีม ที่ได้ไปต่อใน "รอบรองชนะเลิศ" ซึ่งจะต้องจับคู่ประลองทักษะ "การแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์" ณ ศาลแพ่งรัชดา เพื่อคัดให้เหลือ 2 ทีมสุดท้ายเข้าสู่ "รอบชิงชนะเลิศ"
วันนี้ (2 ส.ค.) ได้เข้าสู่โค้งสำคัญ ที่ทั้ง 2 ทีมสุดท้าย ซึ่งได้ผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เพื่อช่วงชิงความเป็นสุดยอดนักกฎหมายดิจิทัลยุคใหม่กับเวทีการแข่งขันครั้งนี้ ได้แก่ ทีมไก่ย่างสามสหาย และ ทีม IT Depends ซึ่งในช่วงเช้าที่ผ่านมา ทั้ง 2 ทีมได้เข้าร่วมการแข่งขันโต้เถียงปัญหากฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์โดยการแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นอุทธรณ์ ณ ห้องพิจารณาคดี 304 ศาลแพ่งรัชดา ต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ คุณวีรภัทร ชัยรัตน์ (ผู้พิพากษาชั้นต้น) ประจำสำนักงานประธานศาลฎีกา, คุณปกรณ์ ธรรมโรจน์ (อัยการผู้เชี่ยวชาญ) สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 2 สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต สำนักงานอัยการสูงสุด และ คุณวรวงศ์ อัจฉราวงศ์ชัย (ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้น) ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด พร้อมตอบข้อซักถามจากคณะกรรมการ ก่อนที่คณะกรรมการจะร่วมกันพิจารณาภายใต้โจทย์และเกณฑ์การแข่งขันที่ครอบคลุมในประเด็นการประยุกต์ใช้ข้อกฎหมาย รวมถึงการให้เหตุผลที่มีข้อสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ ตลอดจนบุคลิกภาพท่าทาง ความมั่นใจ รวมถึงการควบคุมอารมณ์ภายใต้ภาวะกดดัน เป็นต้น
ในที่สุด เวที e-Transaction Law Moot Court Competition 2024 ก็ได้ทีมสุดยอดว่าที่นักกฎหมายดิจิทัลยุคใหม่ โดยทีมที่ชนะเลิศ ได้แก่ ทีมไก่ย่างสามสหาย ประกอบด้วย คุณวรวรรณตรา น่วมอินทร์ และคุณกานต์พิชชา ราชสีหา ได้รับเงินรางวัล 60,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีม IT DEPENDS ได้รับเงินรางวัล 40,000 บาท และ ทีมจริงจังจอมแก่น กับทีม SIXTY THOUSAND BAHT รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ร่วมกัน รับเงินรางวัลทีมละ 15,000 บาท ทั้งนี้ ทุกทีมจะได้รับโล่รางวัลและเกียรติบัตร นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการเข้าร่วมฝึกงานหรือทำงานด้านกฎหมายกับหน่วยงานชั้นนำอีกด้วย
"นับเป็นครั้งแรกของการแข่งขัน Moot Court ที่ได้มีการนำกฎหมายฉบับสำคัญนี้มาเป็นโจทย์หลักในการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการเตรียมความพร้อมให้กับนิสิต นักศึกษาที่ถือว่าเป็นว่าที่นักกฎหมายดิจิทัลที่จะมีส่วนสำคัญในการประยุกต์ใช้กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีความเข้าใจและมั่นใจมากขึ้น พร้อมก้าว สู่สายอาชีพกฎหมายดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยต่อยอดสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ (Community & Networking) ระหว่างบุคลากรในสายกฎหมาย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยในอนาคตต่อไป" คุณจิตสถา กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้สนใจ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของแคมเปญ ตลอดจนกิจกรรมดีๆ จาก ETDA และพาร์ทเนอร์ รวมไปถึงความรู้สาระดีๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่จะทำให้คนไทยชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล เพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand
ที่มา: Triple Eight Ideas