นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า การจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและนำเสนอผลงานทางวิชาการด้านน้ำบาดาล รวมถึงแนวทางการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำบาดาลของประเทศไทยและนานาชาติ ระดมความรู้จากนักวิชาการด้านน้ำบาดาลจากหลากหลายประเทศ เพื่อมาปรับใช้และพัฒนาต่อยอดแนวคิดงานวิจัยด้านน้ำบาดาลในอนาคต ช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิชาการด้านทรัพยากรน้ำบาดาลของประเทศไทยผ่านการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานวิจัย พร้อมยกระดับคุณภาพผลงานวิจัยและ งานวิชาการด้านน้ำบาดาลสู่เวทีระหว่างประเทศ รวมถึงยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายทางวิชาการ ของประเทศไทย เครือข่ายหน่วยงานด้านน้ำบาดาลอื่น ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
นายยงยุทธ นาควิโรจน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในฐานะโฆษกกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า หลังจากที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ประสบความสำเร็จในการจัดงานประชุมวิชาการด้านน้ำบาดาลนานาชาติ ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2565 โดยได้รับความสนใจจากนักวิชาการด้านน้ำบาดาลจากนานาชาติเข้าร่วมงาน ดังนั้น เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ด้านน้ำบาดาลและเสริมสร้างศักยภาพงานวิชาการและงานวิจัยด้านน้ำบาดาลในประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงกำหนดจัดงานประชุมวิชาการน้ำบาดาลนานาชาติ ครั้งที่ 2 หัวข้อ การเสริมสร้างความยั่งยืนด้านน้ำบาดาลภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The 2nd Thailand Groundwater Symposium: Strengthening Groundwater Sustainability under Climate Change) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับน้ำบาดาลทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของน้ำบาดาลต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เชิญนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งในและต่างประเทศกว่า 15 ประเทศ ร่วมนำเสนอผลงานวิชาการ
สำหรับงานประชุมวิชาการน้ำบาดาลนานาชาติ ครั้งที่ 2 กำหนดจัดเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การประชุมและนำเสนอผลงานวิชาการ ระหว่างวันที่ 19 - 21 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยมีหัวข้อ ดังนี้
(1) Innovation in Groundwater Science and Technology
(2) Groundwater Security and Sustainability
(3) Groundwater Governance, Management and Policy
และการศึกษาดูงานภาคสนาม (Excursion) ระหว่างวันที่ 22 - 23 สิงหาคม 2567 ณ โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงพื้นที่ภาคสนามในครั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลคัดเลือกสถานที่ศึกษาดูงานโครงการน้ำบาดาลในโครงการพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งก่อตั้งและดำเนินการมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จวบจนรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ทรัพยากรน้ำบาดาลมีความสำคัญอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทั้งการอุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม โดยมุ่งหวังให้นักวิชาการ และผู้ร่วมงานได้เล็งเห็นบทบาทความสำคัญของน้ำบาดาล ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดมุมมองการบริหารจัดการน้ำบาดาลในพื้นที่จริง เพื่อนำมาต่อยอดองค์ความรู้ต่อไปในอนาคต
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมงานประชุมวิชาการน้ำบาดาลนานาชาติ ครั้งที่ 2 หัวข้อ การเสริมสร้างความยั่งยืนด้านน้ำบาดาลภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The 2nd Thailand Groundwater Symposium: Strengthening Groundwater Sustainability under Climate Change) กรมทรัพยากรน้ำบาดาลขอเชิญชวนให้ ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่เว็บไซต์ https://thaigroundwatersymposium.org ลงทะเบียนฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
ที่มา: กรมทรัพยากรน้ำบาดาล