นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ Head of Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าธนาคารทิสโก้แนะนำคนไทยต้องมีประกันโรคร้ายแรง เพื่อช่วยปิดความเสี่ยงแผนการเงินไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยควรทำควบคู่กับประกันสุขภาพ เพื่อปิดความเสี่ยงทั้งค่าใช้จ่ายภายในโรงพยาบาล เช่น ค่ารักษา ค่าห้อง และค่าใช้จ่ายนอกโรงพยาบาล เช่น ค่าจ้างพยาบาลหรือค่าเสียโอกาสของคนในครอบครัวที่ต้องมาดูแล ค่ากายภาพ ค่าปรับปรุงที่พักอาศัย ค่ายานอกบัญชี และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการ
นอกจากนี้ ค่าเบี้ยประกันโรคร้ายแรงไม่ได้สูงอย่างที่หลายคนเข้าใจ เริ่มต้นเพียงหลักพันบาทต่อปีแต่ได้รับความคุ้มครองหลักล้านบาท เช่น หากผู้เอาประกันอายุ 40 ปี ค่าเบี้ยจะเริ่มต้นที่ประมาณ 5,000 บาท ได้ความคุ้มครองโรคร้ายแรง 1 ล้านบาท หรือหากต้องการความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ต้องการความคุ้มครองโรคร้ายแรง 5 ล้านบาท ค่าเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณ 21,000 บาท
"ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่โรงพยาบาลอาจใช้สวัสดิการหรือประกันสุขภาพมาจ่ายได้ แต่ค่าใช้จ่ายนอกโรงพยาบาลเฉลี่ยประมาณเดือนละ 40,000-50,000 บาท หากไม่มีประกันโรคร้ายแรงซึ่งมักจะเป็นประกันที่จ่ายเงินก้อนเมื่อตรวจพบโรคอาจทำให้ผู้ป่วยหรือครอบครัวต้องแบกรับไว้เองซึ่งอาจกระทบต่อเงินเก็บที่มีอยู่ ยิ่งถ้าหากโรคร้ายแรงนั้นกินระยะเวลาในการฟื้นตัวนานราว 5 - 10 ปี ก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 10 ล้านบาท นอกจากนี้ หากเป็นโรคร้ายแล้วไม่สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลานานก็ทำให้ขาดรายได้จากการทำงานอีกด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้เราสามารถโอนความเสี่ยงไปที่บริษัทประกันได้ผ่านการทำประกันโรคร้ายแรง" นายณัฐกฤติกล่าว
สำหรับวิธีการเลือกประกันโรคร้ายแรง ควรเลือกประกันโรคร้ายแรงที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมในหลากหลายกลุ่มโรค เช่น กลุ่มโรคมะเร็ง กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคเกี่ยวกับอวัยวะและระบบการทำงานที่สำคัญ รวมถึงโรคยอดฮิตของผู้สูงอายุ เช่น กลุ่มภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน โรคสมองเสื่อม เป็นต้น นอกจากนี้ประกันโรคร้ายแรงที่ดีควรจะจ่ายผลประโยชน์ให้ครอบคลุมครบถ้วนตั้งแต่ระยะเริ่มต้นในอัตราที่สูง และที่สำคัญต้องไม่มีระยะเวลารอคอยระหว่างกลุ่มโรค เนื่องจากโรคร้ายแรงเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและมักเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
ทั้งนี้ จากสถิติกรมควบคุมโรคและกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบว่าคนไทยเสี่ยงเป็นโรคร้ายแรงในกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable Diseases) ที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ หรือเชื้อโรค แต่สาเหตุมาจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 เฉลี่ย 4 แสนคนต่อปี คิดเป็น 76% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด โดยมีโรคที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ
ที่มา: ธนาคารทิสโก้