แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายยกระดับการแพทย์ปฐมภูมิ ซึ่งผลักดันและให้ความสำคัญมาโดยตลอด กรมอนามัยถือเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย และสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เพื่อต่อการมีสุขภาพดี สำหรับ "อสม.ไรเดอร์" หรือ "Health Rider" เป็นโครงการที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการผ่านระบบสุขภาพดิจิทัล เพื่อลดความแออัด ในโรงพยาบาล ลดระยะเวลาการรอคอยของผู้รับบริการ โดยการส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน และติดตามการรักษาผ่านระบบ Telemedicine กรมอนามัยจึงได้เปิดตัวโครงการ HL in Health Rider เพื่อส่งความรอบรู้ด้านสุขภาพสู่มือประชาชน ผ่าน Health Rider เพื่อให้ผู้ป่วย หรือผู้ดูแลผู้ป่วยด้วย มีความรอบรู้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลที่ให้บริการ Health Rider 609 แห่ง มีจำนวน Health Rider กว่า 6,000 คน และมีบริการส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้าน จำนวน กว่า 376,140 ครั้ง กรมอนามัย จึงได้จัดทำสื่อความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ Health Rider เพื่อส่งต่อไปยังประชาชน รวมถึงสนับสนุนให้ศูนย์อนามัยที่ 1 - 12 และสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ร่วมขับเคลื่อนงาน "HL in Health Rider" และติดตามประเมินผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น
ด้าน แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุบางท่านที่ต้องเผชิญกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ส่งผลให้อยู่ติดบ้าน ติดเตียง และต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จากโครงการ "อสม.ไรเดอร์" หรือ "Health Rider" เป็นบริการส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้านเป็นนวัตกรรมสนับสนุนนโยบาย "ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ของรัฐบาล ช่วยอำนวยความสะดวก ให้ผู้ป่วยและญาติ ไม่ต้องเดินทางมารับยาถึงโรงพยาบาล และเพื่อส่งเสริมสุขภาพประชาชน กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพที่นอกจากจะมอบความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชนผ่าน Health Rider แล้ว ยังได้พัฒนาหลักสูตรครอบครัวรอบรู้สุขภาพ (Health literate family) รูปแบบ E-learning ที่มีประโยชน์มาก เพื่อส่งต่อความรอบรู้ให้ "อสม.ไรเดอร์" หรือ "Health Rider" รวมทั้งประชาชนทั่วไป ลงทะเบียนเข้าอบรมเรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านระบบสาสุข อุ่นใจ https://sasukoonchai.anamai.moph.go.th/ โดยมีสาระสำคัญพื้นฐานในการดูแลสุขภาพตาม Lifestyle medicine ได้แก่ การสร้างความรอบรู้ป้องกันโรค NCDs การกินยาสำหรับผู้ป่วย อาหารเพื่อสุขภาพ การเลิกบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วย จัดการอารมณ์และความเครียด การนอนหลับให้เพียงพอ สุขภาพช่องปากดี และ การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
ที่มา: กรมอนามัย