โอกาสนี้ ผู้ว่าการ วว. ในบทบาทของ Advisory Group Member, Thailand Chapter, Indo-Pacific Plastics Innovation Network (IPPIN) ได้นำเสนอการแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีของประเทศไทย โดยมีจุดสำคัญคือ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technologies) กับบริบทความแตกต่างและเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ การสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชนผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับบทบาทสตรีและแม่บ้านในครัวเรือน
ในส่วนของ ดร.เรวดี อนุวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญวิจัย วว. ได้นำเสนอความสำเร็จในการดำเนินงานของประเทศไทย พร้อมยกตัวอย่างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัย บริษัทภาคเอกชน และชุมชน รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีกำจัดขยะชุมชนและขยะพลาสติกที่เหมาะสมกับท้องถิ่น
อนึ่ง การจัดการขยะพลาสติกในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกถือเป็นประเด็นสำคัญระดับภูมิภาค เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทะเล และเศรษฐกิจในระยะยาว ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชน เป็นสิ่งสำคัญในการลดการใช้พลาสติก ส่งเสริมการรีไซเคิลและพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินงานด้านการจัดการพลาสติกของ วว. ได้รับการสนับสนุนและต่อยอดความสำเร็จจากหลากหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) และ The Asian and Pacific Centre for Transfer of Technology (APCTT) ให้ตอบโจทย์เป้าหมายการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้านการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย