นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตรวจตราและเพิ่มมาตรการเข้มงวดกวดขันจัดระเบียบทางเท้าและการทำการค้าในย่านราชประสงค์ โดยเฉพาะบริเวณทางลงสะพานลอยคนข้ามหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และประชาสัมพันธ์ไม่ให้อาศัยหลับนอนในที่สาธารณะ รวมถึงตั้งวางสิ่งของกีดขวาง ทางสัญจร โดยบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ตลอดจนเฝ้าระวังไม่ให้กลุ่มคนไร้บ้านและขอทานกลับมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หากพบเห็นบุคคลเร่ร่อน/ไร้ที่พึ่ง บุคคลขอทานในพื้นที่สาธารณะ สามารถแจ้งปัญหาโดยตรงได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. เพื่อช่วยเหลือต่อไป
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวว่า สพส. ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบผู้ทำการขอทานในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักเทศกิจ สำนักงานเขต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. กรมสุขภาพจิต กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิกระจกเงา และมูลนิธิอิสรชน เป็นต้น โดยได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จัดระเบียบในพื้นที่ที่มีผู้ทำการขอทานในย่านธุรกิจ หน้าห้างสรรพสินค้า รวมถึงหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตลาด แหล่งชุมชน และบริเวณสถานีรถไฟฟ้า MRT โดยสำรวจ คัดกรอง จัดทำประวัติ ให้คำปรึกษาแนะนำ การทำความเข้าใจกับผู้ทำการขอทาน กรณีพบผู้ทำการขอทานที่เป็นคนต่างด้าวจะนำส่งสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ เพื่อสอบสวน บันทึกการจับกุม เปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และส่งตัวไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อผลักดันกลับประเทศต้นทาง
ขณะเดียวกันได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดกวดขันตรวจสอบความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยประสานฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขต 50 เขต ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 เป็นหน่วยงานร่วมบูรณาการสนับสนุน การอำนวยความสะดวก และประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการในพื้นที่ตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ในกรณีสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่สัญจรไป-มา หรือสร้างความไม่สะอาดในพื้นที่ รวมถึงการพักอาศัยหลับนอนในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งการแก้ไขปัญหาผู้ทำการขอทานทั้งคนไทยและคนต่างด้าวในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในระยะยาวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน อาทิ ประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อช่วยลดจำนวนผู้ทำการขอทานในพื้นที่สาธารณะอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: กรุงเทพมหานคร