นางสาวนงนุช ช่างสี นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปราจีนบุรี กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสระแก้วนิยมปลูกเมล่อนแต่ประสบปัญหาทั้งด้านผลผลิตและราคา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปราจีนบุรี จึงเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ส่งเสริมและอบรมพัฒนาการผลิตฟักบัตเตอร์นัทอินทรีย์ในโรงเรือนพื้นที่ภาคตะวันออกที่ให้ผลผลิตและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดยฟักบัตเตอร์นัท (Butternut Squash) หรือฟักน้ำเต้า เป็นผลไม้กลุ่มสควอชเป็นฟักชนิดหนึ่งที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นรายได้เสริม เป็นผักที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งฟักบัตเตอร์นัทไม่เพียงแต่มีรสชาติหวานนุ่มและเนื้อสัมผัสที่ละเอียดอ่อนเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและเป็นแหล่งของวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ฟักบัตเตอร์นัท เป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น โดยใช้เวลาเพียง 75 - 100 วัน นับจากการเพาะเมล็ดจนถึงการเก็บเกี่ยว และสามารถให้ผลผลิตได้ 2 - 3 รุ่น และไว้ผลต่อต้นได้ 2 - 3 ผลต่อรุ่น ซึ่งต่างจากเมล่อนที่ให้ผลผลิตครั้งเดียว ราคากิโลกรัมละ 60 - 120 บาท (ขึ้นอยู่กับคุณภาพและท้องที่การผลิต) นอกจากนี้ผลผลิตของฟักทองบัตเตอร์นัทสามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องได้นานถึง 4-5 เดือนโดยที่คุณภาพไม่ลดลง สีและรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่สนใจคือฟักทองบัตเตอร์นัทสามารถปลูกและเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ลักษณะเด่นคือ ผิวเรียบ ลื่น และมีสีครีมนวล เนื้อภายในมีความหนาและมีสีเหลืองทองที่น่ารับประทาน น้ำหนักเฉลี่ยของผลฟักบัตเตอร์นัทอยู่ที่ 0.4 - 0.8 กิโลกรัม รสชาติหวานมัน ซึ่งทำให้เป็นที่นิยมในเมนูอาหารหลากหลายชนิด
นางสาวนงนุช กล่าวต่อไปว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปราจีนบุรี ได้ทำการศึกษาวัสดุปลูกฟักบัตเตอร์นัทอินทรีย์ ในโรงเรือนพบว่า ดิน+ปุ๋ยหมักเติมอากาศ+ขุยมะพร้าว 1:2:1 ให้ผลผลิตจำนวนผลดีที่สุดตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยให้จำนวนดอกบานเฉลี่ย 0.65 ดอก จำนวนการติดผล 11 ผล และน้ำหนักผลเท่ากับ 393.97 กรัม หากสำรวจพบแมลงศัตรูพืชแนะนำให้ป้องกันและกำจัดโดยใช้วิธีการฉีดพ่นสารสกัดจากธรรมชาติอย่าง D-limonene เป็นสารสกัดจากเปลือกส้ม ในอัตราส่วน 2 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นทุกสัปดาห์ต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดเจนพบแมลงศัตรูพืชลดลงอย่างรวดเร็วภายในสัปดาห์แรกที่ทำการฉีดพ่น รวมทั้งใช้ไตรโคเดอร์มาผสมดินปลูกและฉีดพ่นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการเกิดโรคจากเชื้อราสาเหตุโรคพืชและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่อาจเกิดขึ้นในระบบราก ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยลดการใช้สารเคมี อย่างไรก็ตามเมื่อเริ่มปลูกพืชเกษตรกรต้องหมั่นสำรวจพืชปลูกอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ทราบสถานการณ์ของศัตรูพืชและสภาพความแข็งแรงของพืชปลูก หากพบต้นพืชที่เป็นโรคให้ถอนออกจากโรงเรือนทันที เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคไปยังต้นพืชอื่น ๆ ในโรงเรือน เกษตรกรที่สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปราจีนบุรี โทรศัพท์ 037-210261, 037-210262
ที่มา: กรมวิชาการเกษตร