ขณะเดียวกันได้เตรียมแผนปฏิบัติการให้สถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาลดระดับน้ำในคลองต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับต่ำและเร่งสูบระบายหากเกิดปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาในพื้นที่ ตรวจสอบความพร้อมประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความพร้อมใช้งานทุกจุด สำหรับชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมต้องติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ เวลาน้ำขึ้นเต็มที่ในแต่ละวันอย่างใกล้ชิดผ่านเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th/, www.prbangkok.com, Facebook : @BKK.BEST, X(Twitter) : @BKK_BEST รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กทม. โทร.02 248 5115 หรือแจ้งปัญหาทางระบบ Traffy Fondue ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ คลองชักพระและคลองพระโขนงในพื้นที่กรุงเทพฯ มีความยาวริมตลิ่งประมาณ 88.00 กิโลเมตร แบ่งเป็นแนวป้องกันตนเองของเอกชน หรือหน่วยงานอื่น ความยาวประมาณ 3.65 กิโลเมตร แนวฟันหลอ หรือแนวป้องกันตนเองที่มีระดับน้ำต่ำและความมั่นคงแข็งแรงไม่เพียงพอความยาวประมาณ 4.35 กิโลเมตร เช่น แนวป้องกันน้ำท่วมของกรมชลประทาน กองทัพเรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย แนวป้องกันน้ำท่วมของศาสนสถาน หรือศาลเจ้า ท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า อู่จอดเรือร้านค้า สถานประกอบการ ร้านอาหารริมน้ำ อาคารโกดังสินค้า เป็นต้น ซึ่งระดับความสูงคันกั้นน้ำแนวป้องกันน้ำท่วมของ กทม. ความสูงประมาณ +2.80 เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ถึงความสูงประมาณ +3.50 ม.(รทก.) โดยความจุลำน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกรุงเทพฯ สามารถรองรับปริมาณน้ำเหนือได้ประมาณ 2,500 - 3,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที โดยที่ไม่มีน้ำล้นข้ามแนวป้องกันน้ำท่วม ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังอยู่ในเกณฑ์ภาวะปกติ
นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวว่า สปภ. ได้สั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยในสังกัดจัดเจ้าหน้าที่พร้อมยานพาหนะ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ และเรือท้องแบน พร้อมให้การสนับสนุนและบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักเทศกิจ กองโรงงานช่างกล และสำนักงานเขตพื้นที่ รองรับสถานการณ์จากมวลน้ำเหนือที่จะไหลลงมาจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ระดับน้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ สามารถให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที อีกทั้ง ได้จัดเตรียมถุงยังชีพ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัย ส่วนการฟื้นฟูเยียวยาสงเคราะห์ผู้ประสบภัยภายหลังจากอุทกภัยสิ้นสุดแล้วจะให้ความช่วยเหลือตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง การสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๓๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งระเบียบ กทม. ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๓๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างรวดเร็วและทั่วถึงต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุอุทกภัยสามารถขอความช่วยเหลือมาทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา: กรุงเทพมหานคร