ตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ในประเทศไทยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การระบาดของโรค โควิด 19 โดยได้รับแรงหนุนจากผู้เช่าในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เทคโนโลยี และสินค้าอุปโภคบริโภค ทางดับบลิวทีซีเอ ( WTCA) สังเกตเห็นการให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนและการลงทุนอย่างรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น และการเน้นบทบาทสำคัญของมาตรฐานอีเอสจี (ESG) ในการสร้างตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดหยุ่นและพร้อมรับอนาคตในประเทศไทย
"การบูรณาการแนวทางปฏิบัติตาม ESG ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบริษัทต่างๆ ที่ต้องการเป็นผู้นำในตลาดโลก การนำมาตรฐาน ESG มาใช้จะช่วยให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ดึงดูดการลงทุน และมีส่วนสนับสนุนความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ" นายสก็อต หวัง รองประธาน ดับบลิวทีซีเอ (WTCA) ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าว เขาชี้ให้เห็นถึงหลักฐานและการรับรองที่เพิ่มมากขึ้นว่า โครงการที่ปฏิบัติตาม ESG ไม่เพียงแต่จะยั่งยืนกว่า ยังสร้างกำไรมากกว่าในระยะยาวอีกด้วย
ดังนั้น WTCA จึงสนับสนุนให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย นำแนวทางอาคารสีเขียวมาใช้เพิ่มมากขึ้น โดยนำวิธีการก่อสร้างและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนมาใช้เพื่อลดปริมาณคาร์บอนและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงาน ซึ่งถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมการเติบโตและนวัตกรรมในภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้จากรายงานการวิเคราะห์ของไนท์ แฟรงค์ (Knight Frank) บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ระดับโลกได้แสดงให้เห็นว่า อาคารเก่าที่ได้รับการรับรองว่าเป็นอาคารสีเขียวในประเทศไทย อาทิ LEED หรือ Leadership in Energy & Environmental Design (ความเป็นผู้นำด้านการออกแบบที่อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม) และ WELL (WELL Building Standard หรือมาตรฐานทางสุขภาวะระดับสากลที่ประเมินอาคารภายใต้แนวคิดสำคัญ 7 ข้อ ได้แก่ อากาศ น้ำ สาธารณูปโภค แสง การออกกำลังกาย สภาพแวดล้อม และจิตใจ) ได้เสียพื้นที่ใช้งานไปเพียง 17,000 ตร.ม. เท่านั้น เมื่อเทียบกับอาคารเก่าที่ไม่ได้รับการรับรองอาคารสีเขียวซึ่งเสียพื้นที่ไปมากถึง 373,000 ตร.ม. ผลลัพธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับอาคารที่สร้างเสร็จหลังปี 2543 โดยอาคารใหม่ที่ได้รับการรับรองอาคารสีเขียวมีพื้นที่ที่ถูกใช้งานเพิ่มขึ้น 358,000 ตารางเมตร ในขณะที่อาคารใหม่ที่ไม่มีการรับรองอาคารสีเขียวมีพื้นที่ที่ถูกใช้งานเพิ่มขึ้นเพียง 43,000 ตารางเมตรเท่านั้น
LEED เป็นระบบการให้คะแนนอาคารสีเขียวที่ใช้กันอย่างแพร่หลายซึ่งจัดทำกรอบงานสำหรับอาคารสีเขียวที่มีสุขภาพดี มีประสิทธิภาพสูง และประหยัดต้นทุน ในขณะที่ WELL เป็นระบบที่อิงตามเกณฑ์ประสิทธิภาพในการวัด รับรอง และติดตามคุณลักษณะของสภาพแวดล้อมที่สร้างขึ้นซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์
ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านการค้าและการลงทุนระดับโลก ทาง WTCA และเครือข่ายธุรกิจศูนย์การค้าโลก (World Trade Center: WTC) จึงได้เดินหน้าสนับสนุนหลักการของความยั่งยืนและธรรมาภิบาลในการดำเนินงานประจำวัน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระดับโลก โปรแกรมการฝึกอบรมและกิจกรรมต่างๆ ที่เน้น ESG รวมถึงเครือข่ายนานาชาติสำหรับการแบ่งปันความรู้และการทำงานร่วมกัน
นอกจากการปลูกต้นไม้และดำเนินกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนอื่นๆ โดยองค์กรต่างๆ เช่น WTC มุมไบ ในวันสิ่งแวดล้อมโลกเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็ยังมี WTC บังคาลอร์ร่วมกับ WTC โคชิและ WTC เจนไนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเฮิร์ธ อาวร์ (Earth Hour) ทั่วโลกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาด้วยการหรี่ไฟในสถานที่ต่างๆ และลดภาระการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการรักษาความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ อาคาร WTC หลายแห่งทั่วภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกยังได้รับการรับรอง LEED และ WELL รวมถึงการรับรอง WELL CORE Platinum ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สำหรับ อาคารไชน่า เวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ ทาวเวอร์ เอ (China World Trade Center Tower A) ซึ่งเป็นหนึ่งในอาคารที่สูงที่สุดในกรุงปักกิ่ง ขณะที่ WTC ไทเป ซึ่งเป็นตึกระฟ้าที่มีอุปกรณ์อัจฉริยะแห่งแรกในไต้หวันยังได้รับการรับรองทั้ง LEED และ WELL ในปี 2023 ด้วย
"การนำแนวทาง ESG มาใช้มีส่วนช่วยสนับสนุนอย่างมากต่อความสามารถในการปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยเพื่อให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภูมิทัศน์ด้านกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งยังช่วยเสริมสร้างบทบาทในการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและนวัตกรรมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกl" นายหวังกล่าว
นายหวัง ยังเปิดเผยด้วยว่าการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ WTCA ประจำปี 2024 (APRM) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25 ถึง 27 สิงหาคม 2024 โดยมี WTC ไหโข่ว จีนแผ่นดินใหญ่เป็นเจ้าภาพนั้น จะเป็นเวทีสำคัญในการรวมตัวของกลุ่มสมาชิก WTCA ทั่วภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวโน้มต่างๆ เช่น การพัฒนาเขตอุตสาหกรรม แบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในด้านความยั่งยืนและสาขาอื่นๆ ตลอดจนการพูดคุยเกี่ยวกับแผนในอนาคตและการสร้างเครือข่ายร่วมกัน
ที่มา: มายด์ พีอาร์