เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม นายเสรี เรือนหล้า ประมงจังหวัดระยอง นำทีมเจ้าหน้าที่ประมง เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 เทศบาลนครระยอง เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว และผู้แทนซีพีเอฟ ปล่อยพันธุ์ปลานักล่า ปลากะพงขาว ขนาด 6 นิ้ว จำนวน 5,000 ตัว ลงแม่น้ำระยอง บริเวณเจดีย์กลางน้ำ เขตเทศบาลนครระยอง เพื่อให้ล่ากินกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำสาธารณะ พร้อมร่วมแรงร่วมใจ “ลงแขกลงคลอง” นำอวนลากและแห ช่วยกันล้อมจับปลาหมอคางดำในบริเวณสวนศรีเมือง ต.ท่าประดู่ อ.เมือง จ.ระยอง พร้อมปล่อยปลานักล่าที่เจดีย์กลางน้ำ เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ซึ่งผลการจับปลาในวันนี้ได้ 86 กิโลกรัม และปลาชนิดอื่นๆ อีก 10 ชนิด เช่น ปลานิล ปลานวลจันทร์ทะเล ปลาตะเพียนขาว ปลากระดี่นางดุกอีก 45 กิโลกรัม
นายเสรี เรือนหล้า ประมงจังหวัดระยอง กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าว ได้มีการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยมีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟสนับสนุนปลานักล่า และอวนล้อมจับ ทั้งนี้ ประมงระยองจะมีการปฎิบัติการต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเบาบางลง หรือหมดไป โดยปลาหมอคางดำที่จับมาได้ที่มีขนาดใหญ่จะส่งมอบให้เรือนจำกลางระยอง นำไปปรุงเป็นอาหารให้กับผู้ต้องขัง และอีกส่วนจะส่งมอบให้สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดระยอง เพื่อนำไปทำน้ำหมักชีวภาพแจกจ่ายให้เกษตรกร ทั้งนี้จากการปฏิบัติการมาอย่างต่อเนื่องที่ผ่านมา จังหวัดระยองสามารถจับปลาหมอคางดำได้แล้วกว่า 1 ตัน
นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานรัฐกิจและเอกชนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทเดินหน้าร่วมมือกับกรมประมงในการจัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง”เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำอย่างจริงจังใน 12 จังหวัดแล้ว ได้แก่ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี นครปฐม ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช มีส่วนร่วมขจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศได้แล้วมากกว่า 10,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังให้ได้สนับสนุนปลานักล่าปล่อยลงแหล่งน้ำรวมแล้ว 64,000 ตัวแก่ประมงสมุทรสงคราม ประมงสมุทรสาคร ประมงจันทบุรี และประมงระยอง โดยซีพีเอฟยังประสานงานเพื่อประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด และยังเดินหน้าพร้อมร่วมกับจังหวัดอื่นๆ ต่อเนื่อง
ซีพีเอฟได้บูรณาการขับเคลื่อน 5 โครงการเชิงรุกเพื่อร่วมกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำฟื้นฟูระบบนิเวศ ประกอบด้วย โครงการร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาเพื่อทำปลาป่น 2,000,000 กิโลกรัม ที่ปัจจุบันร่วมกับโรงงานปลาป่นในสมุทรสาครจัดซื้อปลาไปแล้วกว่า 605,860 กิโลกรัมและยังเปิดรับซื้ออย่างต่อเนื่อง โครงการปล่อยปลานักล่า 200,000 ตัว รวมถึง โครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนำปลาไปใช้ประโยชน์ เช่น แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และโครงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยในการศึกษาวิจัยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเพื่อตัดวงจรและควบคุมการแพร่พันธุ์ของปลาชนิดนี้ในระยะยาว
ที่มา: Charoen Pokphand Foods