นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการวิจัยด้านการจัดการทรัพยากรดินและที่ดินให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนนักวิชาการและนักวิจัยได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน พร้อมทั้งยกระดับการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ และเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ โดยมุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้หรือนำไปปฏิบัติจริงในพื้นที่ ทำให้เกิดการลดต้นทุนของเกษตรกร การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการดิน ลดผลกระทบจากภัยพิบัติภาคการเกษตร เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ปัญหาหมอกควัน หรือฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายและศักยภาพของนักวิจัยให้มีความพร้อม รู้ทันการเปลี่ยนแปลง นำมาสู่การต่อยอดนวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องเน้นการส่งเสริมและขยายผลงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติ โดยสามารถพิจารณาได้ทั้งจากจำนวนงานวิจัยเชิงบูรณาการที่ทำให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะงานวิจัยเชิงบูรณาการร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งจะเป็นต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ขยายผลสู่พื้นที่อื่นและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
การประชุมวิชาการกรมพัฒนาที่ดินในครั้งนี้มีกิจกรรมบรรยายพิเศษ “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate change) / Carbon Credit” และ “การจัดการธาตุอาหารพืช” เสวนาพิเศษ “เทคนิคการเขียนโครงการวิจัยเพื่อให้ได้รับทุน” กิจกรรมสร้างค่านิยม Team for Soils และเป็นเวทีการนำเสนอผลงานวิชาการดีเด่นตามสาขาวิชาการ 7 สาขาได้แก่ สาขาอนุรักษ์ดินและน้ำ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน สาขาการจัดการดินปัญหา สาขาปรับปรุงบำรุงดิน สาขาจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรดิน/ที่ดิน และการประยุกต์ใช้ สาขาวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม สาขานโยบาย เศรษฐสังคม และการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งภาคบรรยายและภาคนิทรรศการ เพื่อเป็นการพัฒนาสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้นำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน และเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรดินและที่ดิน รวมถึงนำเสนอผลงานดีเด่นของหมอดินอาสาดีเด่นจากสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1-12 ให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักยึดถือเป็นแบบอย่างในด้านการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้กำลังใจนักวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน ตลอดจนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในการพัฒนาผลงานวิจัยให้สามารถนำไปใช้ในการช่วยเหลือให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งเสริมการขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้เกิดการสร้างรายได้ภาคการเกษตร ตามหลักการ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ การรับมือกับภัยพิบัติทางการเกษตร การสร้างมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การสนับสนุนการปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ การยกระดับห้องปฏิบัติการ (Future Lab) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการทำการเกษตรที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สำหรับผู้สนใจนวัตกรรมและเทคโนโลยีของกรมพัฒนาที่ดินที่น่าสนใจ สามารถไปเยี่ยมชมได้ที่งานวันดินโลก ปี 2567 “Caring for soils: measure, monitor, manage ใส่ใจมาตรฐาน ตรวจวัดจัดการ ดินดียั่งยืน” ระหว่างวันที่ 5-11 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
ที่มา: กรมพัฒนาที่ดิน