ASIAN เผยผลประกอบการไตรมาส 2/2567 และครึ่งปีแรก โชว์ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตแกร่ง ดันอัตรากำไรขั้นต้นพุ่งเป้าใหม่ 17-18%

พฤหัส ๒๒ สิงหาคม ๒๐๒๔ ๐๘:๔๒
'บมจ. เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น หรือ ASIAN’ ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 และครึ่งแรกปี 2567 เติบโตอย่างโดดเด่น โดยได้รับแรงหนุนหลักจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากสถานการณ์สินค้าคงเหลือของลูกค้ากลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทฯ ขยับขึ้นมาอยู่ในระดับ 21.1% ในไตรมาส 2 และปรับเป้าอัตรากำไรขั้นต้นของปี 2567 ขึ้นมาเป็น 17-18%
ASIAN เผยผลประกอบการไตรมาส 2/2567 และครึ่งปีแรก โชว์ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตแกร่ง ดันอัตรากำไรขั้นต้นพุ่งเป้าใหม่ 17-18%

นายเอกกมล ประสพผลสุจริต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง อาหารสัตว์น้ำ ทูน่า และอาหารสัตว์เลี้ยงภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้าและของบริษัท เปิดเผยว่า รายได้ในไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 2,716 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมาก มาอยู่ที่ 254 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งความต้องการสินค้าที่สูงขึ้นนี้ เกิดจากความนิยมในผลิตภัณฑ์แพ็คเกจแบบสุญญากาศที่พกพาสะดวกและมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ และธุรกิจทูน่าจะเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอก ทั้งความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์และการลดลงของปริมาณผลิตภัณฑ์กุ้งและปลา แต่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงก็สามารถชดเชยรายได้ที่ลดลงในกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลประกอบการครึ่งปีแรก 2567 แสดงถึงการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยมีรายได้รวม 5,324 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.48% จากช่วงเดียวของปีก่อนที่ทำได้ 4,610 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 500 ล้านบาท และในช่วงครึ่งปีแรก 2567 บริษัทฯ มีอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.3% จาก 10.3% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 9.4% สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนและความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อแบ่งสัดส่วนรายได้ตามประเภทธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรก 2567 พบว่า กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและปลาป่นมีสัดส่วนยอดขายสูงถึง 53% ของรายได้การขาย เพิ่มขึ้นจาก 44% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงการขยายตัวที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะจากปริมาณการส่งออกที่สูงถึง 17,481 ตัน เพิ่มขึ้น 24.68% จากครึ่งปีแรก 2566 ซึ่งมีปริมาณ 14,020 ตัน ส่งผลให้รายได้จากกลุ่มนี้อยู่ที่ 2,832 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากครึ่งปีแรกของปีก่อน

ในส่วนของธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง ครึ่งปีแรกมีปริมาณการขาย 5,052 ตัน เพิ่มขึ้น 12% และทำรายได้ 1,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของกำลังซื้อผู้บริโภคในตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ อิตาลี ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีหลังยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

สำหรับธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ ปริมาณการขายลดลงอย่างมากถึง 42% ในไตรมาส 2 และลดลง 29% ในครึ่งปีแรก เนื่องจากปริมาณการลงลูกกุ้งของเกษตรกรที่ลดลง ทำให้ปริมาณกุ้งออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ยอดขายอาหารปลาก็ลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาสูตรอาหารสัตว์น้ำเพื่อเพิ่มอัตราแลกเนื้อและการจัดการสินเชื่ออย่างรัดกุม

ด้านธุรกิจทูน่า ปริมาณการขายลดลง 29% เหลือเพียง 2,495 ตัน และมีรายได้ลดลง 30% อยู่ที่ 400 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 571 ล้านบาท แม้ว่าราคาทูน่าที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ แต่ด้วยคำสั่งซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็ช่วยให้บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการต้นทุนและรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ยังมีมติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับครึ่งปีแรก 2567 ในอัตราหุ้นละ 0.4297 บาท กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับปันผล (Record Date) วันที่ 22 สิงหาคม 2567 และจ่ายเงินปันผลในวันที่ 6 กันยายน 2567

“แม้บริษัทจะปรับลดเป้ารายได้การขายลง แต่บริษัทได้ปรับเพิ่มเป้าอัตรากำไรขั้นต้นเป็น 17-18 % จากเดิมกำหนดไว้ที่ 14-15% หลังครึ่งปีแรกปี 2567 บริษัททำได้แล้วที่ระดับ 19.3% โดยมองว่าธุรกิจส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงครึ่งปีหลังยังเป็นบวกเพราะยังมีปริมาณคำสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกำลังการผลิตปัจจุบันที่ 56,000 ตัน คาดยังสามารถรองรับการเติบโตได้ตามที่คาดการณ์ไว้ แม้สภาพเศรษฐกิจอาจมีการชะลอตัวและอาจกระทบกับความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงกลุ่มพรีเมี่ยมด้วยปริมาณการขายของปีที่แล้วที่มีการย่อตัวลง และอาจต้องเผชิญกับราคาต้นทุนวัตถุดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและกระทบกับอัตรากำไรขั้นต้นบ้าง” นายเอกกมล กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งครึ่งปีหลังน่าจะได้รับผลกระทบความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จากมาตรการทางการค้าโดยเฉพาะตลาดในยุโรปที่ส่งหมึกแช่แข็งเป็นหลัก ส่วนตลาดสหรัฐฯ มองว่าสินค้าเพิ่มมูลค่าจะมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ขณะที่ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำด้วยความเข้มงวดการให้สินเชื่อและเร่งรัดหนี้สินเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรจึงลดเป้ารายได้ลงตามผลผลิตกุ้งและปลาที่มีปริมาณน้อย เช่นเดียวกับธุรกิจทูน่าที่ลดเป้ารายได้ลงเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการรับคำสั่งซื้อทูน่าให้ดี

สำหรับแผนและงบการลงทุนปี 2567 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงไว้ที่ 535 ล้านบาท โดยจะนำไปใช้สำหรับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 431 ล้านบาท ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ 64 ล้านบาท และธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง 40 ล้านบาท

ที่มา: IR PLUS

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO