แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกพบได้ในทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กวัยเรียน และวัยทำงานตอนต้น ซึ่งผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เด็กทารก และผู้สูงอายุ มีภาวะอ้วน หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่เป็นโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย หรือโรคที่เกิดจากฮีโมโกลบินผิดปกติ ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด โรคไตวาย โรคตับเรื้อรัง หรือรับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inammatory หรือ NSAIDs) โดยเฉพาะผู้สูงอายุ พบว่าเมื่อป่วยแล้วมีโอกาสเสียชีวิตมากที่สุด
กรมอนามัยมีคำแนะนำและข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก ดังนี้ 1) ป้องกันตนเองจากยุงลายกัด โดยนอนในมุ้ง ติดมุ้งลวด ใช้ยากันยุงจากธรรมชาติ สวมเสื้อแขนยาวเมื่อทำงานในสวน และทายากันยุง โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้เลือดออก ต้องป้องกันการแพร่เชื้อไข้เลือดออกสู่บุคคลในครอบครัวและชุมชน 2) กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเก็บบ้านให้สะอาด จัดเก็บเสื้อผ้า ไม่ให้มีมุมอับเก็บขยะรอบบ้าน ปิดฝาภาชนะใส่น้ำ และล้างแจกันทุกสัปดาห์ และ 3) สังเกตอาการโรคไข้เลือดออก โดยมีไข้สูงลอยเฉียบพลัน หน้าแดง ปวดศีรษะ มีจุดแดง ให้รีบพบแพทย์ ห้ามใช้ยาประเภท NSAIDs หากมีผู้ป่วยในครอบครัว ให้สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและปฏิบัติตามคำแนะนำ
“ทั้งนี้ กรมอนามัย ได้ส่งความรอบรู้ด้านสุขภาพ สู่มือประชาชน เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกผ่านผู้บริหารสาธารณสุขอำเภอระดับสูงทั่วประเทศ และได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายองค์กรและเอกชนเพื่อส่งเสริมการป้องกันโรคไข้เลือดออกในหลากหลายมิติ ทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน กลุ่มแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ที่นำไปสู่การป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพด้วยมาตรการการเฝ้าระวังและป้องกันไข้เลือดออก และให้เห็นถึงคุณค่าของการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ที่สามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา: กรมอนามัย