ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ให้ข้อมูลว่า ได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สอดรับกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะใช้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนมีอาชีพมั่นคงจากต้นทุนในชุมชน ผ่าน 6 โครงการหลักที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และกระจายรายได้ เชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตในพื้นที่ทั่วประเทศ ภายใต้งบประมาณปี 2567 ประกอบด้วย
- โครงการสร้างผู้ประกอบการจากช่างมืออาชีพ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจและผู้ประกอบการในกลุ่มอาชีพช่าง เช่น ช่างแอร์ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้สามารถต่อยอดทักษะ ความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว เพิ่มจุดเด่นและมูลค่าให้กับการบริการ มีองค์ความรู้การบริหารจัดการธุรกิจ เริ่มต้นดำเนินธุรกิจ จนสามารถจัดตั้งและขยายธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและอยู่รอดในสังคมได้อย่างยั่งยืน และการเขียน Business Model Canvas รายบุคคล ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด (จันทบุรี นนทบุรี เพชรบุรี ราชบุรี สระบุรี พิษณุโลก บุรีรัมย์ ยโสธร หนองคาย อำนาจเจริญ นครศรีธรรมราช สตูล) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 662 คน (เป้าหมาย 600 คน)
- โครงการสร้างเสริม เติมทักษะ สู่อาชีพดีพร้อม เพื่อเพิ่มทักษะ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สร้างรายได้ และเงินหมุนเวียนในชุมชน รองรับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างยั่งยืน ผ่านการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความต้องการในแต่ละพื้นที่ อาทิ สาขาอาหารและเครื่องดื่ม สาขาสมุนไพร สาขาผ้าและเครื่องแต่งกาย สาขาของใช้ของตกแต่ง สาขาบริการ นำองค์ความรู้ในการเป็นผู้ให้บริการด้านการพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสม ดำเนินการในพื้นที่ 18 จังหวัด (ชลบุรี ปทุมธานี ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ เชียงใหม่ พิจิตร ลำปาง อุตรดิตถ์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด อุดรธานี อุบลราชธานี ตรัง พัทลุง ระนอง) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,980 คน (เป้าหมาย 1,800 คน)
- โครงการพัฒนานักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมพัฒนาความรู้และเพิ่มทักษะองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ การพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การยกระดับศักยภาพตลอดห่วงโซ่เกษตรอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็ง ทั้งการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ผ่านหารฝึกอบรม 3 หลักสูตร ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการ ด้านการตลาด และด้านการจัดการด้านการเงิน ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด (ตราด ระยอง ลพบุรี สมุทรสงคราม อ่างทอง อุตรดิตถ์ อุทัยธานี บึงกาฬ อุบลราชธานี กระบี่ ชุมพร ยะลา) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน (เป้าหมาย 480 คน) ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานในภาพรวมใน 3 โครงการได้พัฒนาผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนนักศึกษา ผู้ว่างงาน และประชาชนในพื้นที่กว่า 3,142 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 467 ล้านบาท
- โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจด้วยบริการปรึกษาแนะนำเบื้องต้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถพัฒนา ปรับปรุงแก้ไขปัญหา ริเริ่ม ต่อยอด เชื่อมโยงธุรกิจและแหล่งเงินทุน ผ่านรูปแบบของการให้บริการข้อมูลธุรกิจและคำปรึกษาแนะนำเบื้องต้น โดยดำเนินการในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 613 คน (เป้าหมาย 532 คน) สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 247 ล้านบาท
- โครงการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) เพื่อพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นและสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีการแปรรูป และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในสถานประกอบการ ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครสวรรค์ น่าน ลำพูน สุโขทัย ขอนแก่น นครราชสีมา หนองบัวลำภู ปัตตานี พังงา สงขลา) ซึ่งเข้าร่วมกว่า 288 คน 24 กิจการ (เป้าหมาย 240 คน 24 กิจการ) ทั้งอาหารแปรรูป เกษตรแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 50 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 430 ล้านบาท
- โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสู่การแข่งขันเศรษฐกิจวิถีใหม่ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่ ให้มีศักยภาพรองรับเศรษฐกิจวิถีใหม่ แบ่งเป็น จัดกิจกรรมการพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ ความสามารถที่จำเป็น เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์ปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล และสอดคล้องกับภูมิปัญญา ทุนทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่เป้าหมาย 27 จังหวัด (กาญจนบุรี, ชัยนาท, นครนายก, นครปฐม ,ประจวบคีรีขันธ์ ,พระนครศรีอยุธยา, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, สระแก้ว, สิงห์บุรี, กำแพงเพชร, เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, พะเยา, เพชรบูรณ์, แพร่, แม่ฮ่องสอน, นครพนม, มหาสารคาม, เลย, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สุรินทร์, นราธิวาส, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี) มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรม 849 คน (เป้าหมาย 810 คน)
ตลอดจนการให้คำปรึกษาแนะนำวิสาหกิจ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจทั้งโซ่อุปทานในพื้นที่ 19 จังหวัด (กาญจนบุรี, ชัยนาท, นครนายก, ประจวบคีรีขันธ์ ,พระนครศรีอยุธยา, สมุทรปราการ, สระแก้ว, สิงห์บุรี, เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, พะเยา, เพชรบูรณ์, แพร่, นครพนม, มหาสารคาม, เลย, สุรินทร์, ภูเก็ต) มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 72 กิจการ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 239,944,081.18 บาท และสร้างรายได้ได้กว่า 86,574,482 บาท
รวมทั้งการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ หรือต้นแบบวัสดุอุตสาหกรรม ของสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมศักยภาพในพื้นที่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมในพื้นที่เข้าสู่เศรษฐกิจวิถีใหม่ในพื้นที่ 18 จังหวัด (กาญจนบุรี, ชัยนาท, นครนายก, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, สระแก้ว, เชียงราย, ตาก, พะเยา, เพชรบูรณ์, แพร่, แม่ฮ่องสอน, มหาสารคาม, เลย, สกลนคร, สุรินทร์, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี) มีผลิตภัณฑ์ได้รับการพัฒนา 55 ผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้กว่า 23,897,872 บาท และสร้างรายได้ได้กว่า 8,016,286 บาท
“ทั้ง 6 โครงการดำเนินการเสร็จเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อมุ่งสู่นักธุรกิจอุตสาหกรรมมืออาชีพกว่า 4,900 ราย กระตุ้นเศรษฐกิจได้กว่า 1,400 ล้านบาท ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ มั่นใจจะเป็นอีกฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเวลานี้” นายณัฐพลทิ้งท้าย
ที่มา: โมเดิร์นเทียร์