นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า สศท. ได้มีการส่งเสริมงานหัตถกรรมในระดับชุมชน โดยคัดเลือกชุมชนที่มีภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรม และอัตลักษณ์ชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรม ผ่านการท่องเที่ยวในวิถีชุมชน ภายใต้ชื่อ “ชุมชนเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรม (Craft Communities)” สำหรับการดำเนินงานในปี 2567 สศท. มุ่งเน้นการเชื่อมโยงงานศิลปหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ภูมิปัญญาของชุมชนเข้ากับกระแสการท่องเที่ยว ด้วยการสร้างโอกาสในการพัฒนาให้กับชุมชนเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมให้มีประสิทธิภาพ โดยในปีนี้ สศท. ได้ดำเนินโครงการร่วมกับ 2 ชุมชน ได้แก่ กลุ่มเครื่องสังคโลกและเครื่องปั้นดินเผา จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีเอกลักษณ์ และได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งสังคโลก ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุโขทัย มีกรรมวิธีการผลิตที่สืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สืบต่อกันมายาวนาน ปัจจุบันมีการพัฒนากระบวนการผลิต และปรับประยุกต์รูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและยังสามารถผลิตได้จำนวนมากและรวดเร็ว สามารถสนับสนุนให้เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่เป็นของซื้อของฝากได้ นอกจากนี้ ยังมีอีก 1 พื้นที่ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง ที่โดดเด่นเรื่องการทอผ้าเอกลักษณ์ของตำบลนาหมื่นศรี มรดกทางภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมากว่า 200 ปี มีภูมิปัญญาที่สะท้อนทักษะเชิงช่าง โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผ้าพื้น ผ้าตา และผ้ายกดอก ที่แม้จะทำได้เป็นหมื่นสี แต่เอกลักษณ์ดั้งเดิม คือผ้าสีแดงเหลืองมีโครงสร้างผ้าเป็นภาษาใต้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นริมตีน แม่แคร่ ลูก เกียบ ชายรุ่งริ่ง และหน้าผ้า จนได้รับการยกย่องให้เป็นของดีจังหวัดตรัง
สศท. ขอเชิญชวนทุกท่านเยี่ยมชมและพูดคุยกับชาวบ้านผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทย ได้ที่งาน Crafts Bangkok 2024 ระหว่างวันที่ 24 - 28 สิงหาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น. ณ ฮอลล์ 98 - 99 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค
ที่มา: ซี.เอ.อินโฟมีเดีย