“โลกร้อน” ความท้าทายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
นางน้ำฝน บุณยะวัฒน์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ปัญหาที่ชัดเจนที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศคือ การกำหนดฤดูกาลการท่องเที่ยวที่เคยทำได้ง่าย ๆ ในอดีต ทำได้ยากมาก ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถสร้างจุดขายที่ชัดเจนให้กับการท่องเที่ยวได้อีกต่อไป และยังส่งผลต่อความมั่นใจของนักท่อเที่ยวในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการบินที่อาจไม่ปลอดภัย เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน หรือการเข้าชมแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่อาจไม่สามารถรับประกันความแน่นอนได้อีกต่อไป ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มหวาดหวั่นในการเดินทาง อีกทั้งยังส่งผลกระทบกับอาหารที่เป็นจุดขายสำคัญของการท่องเที่ยวไทย เพราะวัตถุดิบทางการเกษตรที่เคยมีคุณภาพสูง และเป็นที่ภูมิใจในท้องถิ่นต่าง ๆ อาจไม่สามารถผลิตได้เช่นเดิม
“ท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ต้นทุนของประเทศมากที่สุด และเอาเปรียบโลกใบนี้มานาน จึงถึงเวลาที่จะต้องจัดการให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวคืนประโยชน์ให้กับประเทศ โดยบทบาทใหม่ของ ททท. ต้องมุ่งสร้างสังคมอุดมปัญญา ให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวว่าการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการรักษาและดูแลโลกได้อย่างไร เราต้องกลับมาถามตัวเองว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะไหนในแง่ของศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หรือต้นทุนวัฒนธรรม และจะใช้การท่องเที่ยวให้เกิดประโยชน์กับประเทศได้อย่างไร ซึ่ง ททท. ต้องปรับการเล่าเรื่องใหม่ เน้นให้ความรู้และข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ต้องเติมความรู้ให้ตัวเอง และรู้จักตัวจริงในอุตสาหกรรมที่เป็นคนช่วยดูแลบ้านเมืองและโลกด้วยจิตสำนึก แล้วเอาความรู้นั้นมาเป็นประสบการณ์ในการท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงต้องมองหาพันธมิตรที่มีความเข้าใจตรงกัน”
ปักธงสู่ความยั่งยืน เรื่องด่วนของผู้ประกอบการ
ด้านนางสาววสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) กล่าวว่า การตระหนักถึงเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องเร่งด่วน และการขับเคลื่อนเรื่อง GREEN เป็นสิ่งสำคัญเพราะคนเข้าใจง่าย โดยการทำงานของสมาคมมุ่งเน้นเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักการ "แชร์ แคร์ แฟร์" ผ่านการปลูกฝังความรับผิดชอบเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งการสร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การเดินป่า หรือการท่องเที่ยวเชิงอาหารออร์แกนิค ไม่เพียงช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือและการเป็นพันธมิตรกันจะเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับภาวะโลกร้อน และขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
“ธงของเราคือความยั่งยืน ผู้ประกอบการที่อยากอยู่รอดต้องปรับตัวและปรับกลยุทธ์การทำงาน เช่น ผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากร การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงเกษตรอินทรีย์ ซึ่งผู้บริโภคเองก็จะค่อย ๆ ตระหนักที่จะใช้สินค้าของเรา แต่สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการเดินสู่การต่อสู้ภาวะโลกเดือดคือ ต้องมีพาร์ทเนอร์ จึงนำไปสู่การทำงานแบบบูรณาการ โดยนอกจากพาร์ทเนอร์ในประเทศแล้ว ยังมีการร่วมมือกันระหว่างประเทศในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย ตอนนี้มีโครงการ 1 สถานทูต 1 จังหวัด เป็นโครงการนำร่อง นอกจากนี้ สมาคมยังได้รับงบประมาณจากรัฐในการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและสร้างพันธมิตรที่เข้มแข็งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน”
เกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพที่ดีและโลกยั่งยืน
เกษตรอินทรีย์ไม่เพียงจะดีต่อสุขภาพ แต่เป็นวิถีการเกษตรที่ช่วยดูแลโลกด้วย โดยนายอรุษ นวราช นายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) บอกว่า เกษตรอินทรีย์คือเกษตรที่รักษาสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ใช้สารเคมีที่ทำลายดินทำลายน้ำ ทำให้ช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ในขณะที่ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีในราคาแพงมาก ดังนั้น การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นไม่พึ่งพาสารเคมีนำเข้าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร และเป็นการสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่ง TOCA ได้เดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการบริโภคเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง ทั้งนี้ เชื่อว่าการกระตุ้นให้เกิดการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ทำได้ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มผู้บริโภคที่จะทำให้เกิดความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับโรงแรม ร้านอาหาร และผู้ประกอบการที่สนใจในการใช้และสนับสนุนสินค้าอินทรีย์ เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
“ปัจจุบัน เกษตรกรอินทรีย์ในประเทศไทยมีประมาณ 500,000 คน จากจำนวนเกษตรกรทั้งหมดกว่า 20 ล้านคน และพื้นที่เกษตรอินทรีย์มีเพียง 1 ล้านไร่ ซึ่งน้อยกว่า 1% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดในประเทศ เราจำเป็นต้องร่วมมือกันเป็น Active Consumer ที่ใส่ใจในการเลือกบริโภคสินค้าอินทรีย์ ไม่เพียงเพื่อสุขภาพของเรา แต่ยังเป็นการช่วยเกษตรกรในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์และรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การจัดการขยะอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเอาไปฝังกลบจัดการไม่ดีก็เกิดมีเทน แต่ขยะอาหารเป็นวัตถุดิบที่ดีที่เอาไปเป็นปุ๋ยได้ ทำให้กลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าได้หากรู้จักวิธีการจัดการและนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์” นายอรุษกล่าว
เส้นทางสู่ความยั่งยืนต้องร่วมด้วยช่วยกันทำ
ปิดท้ายที่นายช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท คลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมว่า เวลาจัดกิจกรรมจะดูทั้งระบบห่วงโซ หรือซัพพลาย เชน ว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง และพยายามสื่อสารกับทุกคนที่มีส่วนได้เสีย เพื่อดูว่าสิ่งที่ทำมีผลกระทบอะไรกับโลกบ้าง เช่น เกษตรกรปลูกกาแฟใช้เคมีจะเกิดอะไรขึ้น และสร้างผลกระทบกับผู้บริโภคอย่างไร สุดท้ายหากผู้บริโภคตอบรับกับแนวคิดนี้ก็จะเกิดดีมานด์ขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องการท่องเที่ยวจะมองตั้งแต่ชุมชน ต้องมีกระบวนการจัดการควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมไม่ให้คนมาเยอะเกินไป ส่วนโรงแรมที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมือง ก็จะมองไปถึงซัพพลายเออร์ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ที่นอน หมอนมุ้ง การจัดการขยะต้องสอดรับกัน ในขณะที่คนเดินทาง คนจัดกิจกรรม ต้องมีวิธีคิดเรื่องความยั่งยืนเช่นกัน
“สุดท้ายสำคัญมากคือนักท่องเที่ยว เราอยากสร้างนักท่องเที่ยวให้เข้าใจว่าจริง ๆ การท่องเที่ยวยั่งยืนเป็นอย่างไร ถ้าทุกคนเข้าใจจะให้เกิดมูลค่าและคุณค่ากับวงการนี้ เวลาเที่ยวก็จะไม่ได้ตัดสินใจจากราคาอย่างเดียว แต่มองเรื่องวิธีการจัดการด้วย ถ้าเราทำได้ชาวต่างชาติจะให้การยอมรับ และคุณค่าของการท่องเที่ยวจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอะไรก็ตามที่หายาก Copy ไม่ได้และมีคุณค่า สิ่งนั้นเราจะกำหนดราคาได้เอง เหมือนกับสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นต้นทุนของประเทศที่เรามีอยู่แล้ว มีจำนวนจำกัดและมีคุณค่า เราต้องอย่าทำให้มากเกินไป ต้องสร้างสมดุล หรือผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ถ้าเราทำให้มีทั้งมูลค่าและคุณค่าได้ก็จะดี แต่สิ่งสำคัญที่เราพูดกันมากในวันนี้คือทุกคนต้องช่วยกัน” นายช้างน้อยกล่าวสรุป
ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนซัพพลายเชนของการท่องเที่ยวยั่งยืนไปพร้อมกัน และพบกันอีกครั้งในปีหน้ากับ Amazing Green Fest 2025 เทศกาลท่องเที่ยวยั่งยืน ที่จะนำพาผู้ประกอบการ ชุมชน ร้านค้า และผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวที่เป็นตัวจริงในวงการมาพบกันทุกคน ติดตามรายละเอียดต่อเนื่องได้ที่เฟสบุ๊ก Facebook : https://www.facebook.com/AmazingGreenFest
###
ที่มา: ChomPR