นายอนันต์ สุนทร ประมงจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า สถานการณ์ปลาหมอคางดำในราชบุรีพบใน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง โพธาราม ดำเนินสะดวก ปากท่อ บางแพ และวัดเพลง สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ ที่คลองในตำบลโพหัก อ.บางแพ ได้รับความร่วมมือจากชุมชนและซีพีเอฟใช้แหและตาข่ายจับปลาหมอคางดำขึ้นมาได้ 20 กิโลกรัม จึงแบ่งปันให้ชุมชนนำกลับไปบริโภค
"ในราชบุรียังพบปลาหมอคางดำไม่หนาแน่น มีการแพร่กระจายประมาณ 10% ของสัตว์น้ำทั้งหมด ประมงราชบุรีกำหนดแผนกำจัดปลาในแหล่งน้ำอย่างจริงจัง มีทีมเฉพาะกิจออกไปจับปลาในคลองต่างๆ ทันทีที่ได้รับแจ้งเบาะแส และมอบเครื่องมือประมงให้ผู้นำชุมชนเพื่อช่วยกันจับปลาขึ้นจากแหล่งน้ำให้มากที่สุด เตรียมปล่อยปลาผู้ล่าลงไปเพื่อควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ" นายอนันต์กล่าว
ด้านนายอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานรัฐกิจและเอกชนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทสนับสนุนกรมประมงจัดการปัญหาปลาหมอคางดำโดยเร็วที่สุด โดยดำเนินการ 5 โครงการเชิงรุก รวมถึงการสนับสนุนการจัด "ลงแขกลงคลอง" ในพื้นที่รวม 13 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง เพชรบุรี นครปฐม ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ล่าสุดราชบุรี และพร้อมขยายความร่วมมือกับจังหวัดอื่นๆ ต่อเนื่อง เพื่อร่วมมือฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งน้ำ
ซีพีเอฟได้ประกาศบูรณาการขับเคลื่อน 5 โครงการเชิงรุกเพื่อร่วมจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ ฟื้นฟูระบบนิเวศเต็มกำลัง ประกอบด้วย โครงการร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาเพื่อทำปลาป่น 2,000,000 กิโลกรัม ที่ปัจจุบันร่วมกับโรงงานปลาป่นในสมุทรสาครจัดซื้อปลาไปแล้วกว่า 800,000 กิโลกรัม โครงการปล่อยปลานักล่า 200,000 ตัว จนถึงวันนี้ปล่อยปลากะพงลงแหล่งน้ำแล้ว 64,000 ตัว รวมถึง โครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำปลาไปใช้ประโยชน์ เช่น แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และโครงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยในการศึกษาวิจัยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเพื่อตัดวงจรและควบคุมการแพร่พันธุ์ของปลาชนิดนี้ในระยะยาว โดยมีมหาวิทยาลัยแสดงเจตนารมณ์ร่วมโครงการวิจัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้./
ที่มา: Charoen Pokphand Foods