"คลินิกเวชกรรม" ให้บริการตรวจรักษาโรคแบบผู้ป่วยนอก ครอบคลุมโรค 42 กลุ่ม รวมถึงโรคเรื้อรัง (Chronic) อาทิ โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD), โรคหืด (Asthma), โรคไตเรื้อรัง, โรคกรดไหลย้อน, และโรคปวดหลังและปวดคอ เป็นต้น ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้ารับบริการที่คลินิกฯ ใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงแค่พกบัตรประชาชนใบเดียวเท่านั้น
"คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์" ให้บริการต่าง ๆ เช่น การให้ยาตามแผนการรักษาโดย ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม, บริการพยาบาลพื้นฐาน, ทำแผล, ใส่สายยางให้อาหาร, ใส่สายสวนปัสสาวะ, ดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน, คัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง พร้อมให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรค นอกจากนี้ยังมีบริการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคเพิ่มเติมดังนี้:
- ขอรับบริการยาคุมกำเนิด ฟรี!
- ขอรับบริการถุงยางอนามัย ฟรี!
- ทดสอบการตั้งครรภ์ ฟรี!
- ฝากครรภ์คุณภาพที่วินิจฉัยแล้วไม่มีภาวะเสี่ยง ฟรี!
- ตรวจสุขภาพหลังคลอด ฟรี!
- ขอรับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิกเพื่อป้องกันโลหิตจาง การขาดไอโอดีนและธาตุเหล็ก ฟรี!
- คัดกรองประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ฟรี!
"คลินิกทันตกรรม" ประชาชนสามารถเข้ารับบริการทันตกรรมที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิหรือหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกแห่งเพียงแสดงบัตรประชาชนทุกครั้งเมื่อเข้ารับบริการ โดยจะได้รับบริการ 5 รายการที่คลินิกทันตกรรม ได้แก่ การขูดหินปูน การอุดฟัน การถอนฟัน การเคลือบหลุมร่องฟัน และการเคลือบฟลูออไรด์ ปีละ 3 ครั้ง เมื่อครบ 3 ครั้ง แล้วหากยังจำเป็นต้องรักษาต่อ สามารถใช้สิทธิได้ที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
"คลินิกเทคนิคการแพทย์" การให้บริการตรวจแล็บครอบคลุม 24 รายการ แบ่งออกเป็น 2 รายการเป็นบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ได้แก่ ตรวจการตั้งครรภ์, ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ด้วยวิธีการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ สามารถเข้ารับบริการได้ที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ร่วมโครงการได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ส่วนอีก 22 รายการที่เหลือเป็นบริการที่ต้องมีใบสั่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาจากทางโรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง โดยประชาชนสามารถยื่นบัตรประชาชนคู่กับใบสั่งตรวจแล็บจากโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับริการฟรีตามหมวดหมู่ดังนี้
- การตรวจหาความเข้มข้น และความผิดปกติของเม็ดเลือด
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
- การตรวจน้ำตาลสะสม
- การตรวจระดับไขมันในเลือด
- ตรวจการทำงานของตับ
- การตรวจการทำงานของไต
- การตรวจปัสสาวะ
- การตรวจไวรัสตับอักเสบบี
"คลินิกการแพทย์แผนไทย" ประชาชนสามารถเข้ารับบริการดังนี้ นวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษา การบริการนี้รวมถึงการตรวจประเมินและการจัดบริการนวดประคบสมุนไพรโดยแพทย์แผนไทยสำหรับผู้ป่วย 4 กลุ่มที่มีความจำเป็นต้องใช้การแพทย์แผนไทย ได้แก่ โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคสันนิบาต และฟื้นฟูมารดาหลังคลอด เป็นต้น
"คลินิกกายภาพบำบัด" สำหรับผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูสุขภาพระยะกลางจาก 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง สมองได้รับบาดเจ็บ กระดูกสะโพกหัก และไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ สามารถเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรอใบส่งตัวจากแพทย์ คลินิกจะจัดการประสานข้อมูลกับโรงพยาบาลเพื่อทำการลงทะเบียนผู้ป่วยและช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการตามนโยบาย
"ร้านยา GPP+ ร้านยาคุณภาพ" สำหรับประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยใน 16 กลุ่มอาการ เช่น เป็นไข้, ไอ, เจ็บคอ, ปวดข้อ, ปวดกล้ามเนื้อ, อาการทางผิวหนัง ผื่น, คัน, ปวดท้อง, รักษาบาดแผล, ท้องเสีย, ปวดศีรษะ, เวียนศีรษะ, ปวดฟัน, ท้องผูก, ริดสีดวงทวาร, ปัสสาวะขัด, ปวดประจำเดือน, ตกขาวผิดปกติ, ความผิดปกติของตาและหู สามารถปรึกษาเภสัชกรและรับยาได้ที่ร้านยาคุณภาพใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการ
โดยขั้นตอนการใช้บริการ ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาล คลินิกเอกชน หรือร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช. ค้นหาหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและเลือกจังหวัดกรุงเทพฯ หรือสังเกตตราสัญลักษณ์ใหม่สีแดง '30 บาทรักษาทุกที่' ที่หน้าสถานพยาบาล คลินิกเอกชน หรือร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ จากนั้นยื่นบัตรประชาชนและแจ้งใช้สิทธิบัตรทองเพื่อรับบริการได้ทุกที่ สะดวก รวดเร็ว และลดเวลาการรอคิวนาน
นอกจากนี้ สปสช. ยังได้ขยายบริการเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกและลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ รวมถึงหน่วยบริการนวัตกรรมทั้ง 7 ประเภท ด้วยการเพิ่มบริการแพทย์ทางไกล เจาะเลือดที่บ้าน รถรับส่งผู้ป่วย รถทันตกรรมเคลื่อนที่ และตู้เทเลเมดดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน เป็นต้น สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. โทร 1330 กด 5
ที่มา: เอ พับลิซิสท์