นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทฯ เป็นผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรที่มีความพร้อมการจัดการระบบซัพพลายเชน (Supply Chain) โดยแบ่งธุรกิจเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.) กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม น้ำมันไบโอดีเซล และน้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค รวมถึงรับซื้อน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องมาจำหน่ายให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า 2.) กลุ่มธุรกิจให้บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ 3.) กลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางรถ และ 4.) กลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ โดยมีผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มที่หลากหลาย รองรับการใช้งานทั่วอุตสาหกรรม เช่น น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) น้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPO) น้ำมันเมล็ดในปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPKO) น้ำมันไบโอดีเซล (B100) น้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) และมีผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อใช้ในครัวเรือนจำหน่ายภายใต้แบรนด์ "รินทิพย์" ตลอดจนผลพลอยได้จากการผลิต (By Product) เช่น กลีเซอรีน (Glycerin) ซึ่งเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์รอบตัว เช่น เครื่องสำอาง อาหาร ยา สบู่ เป็นต้น
ณ ปี 2566 กลุ่มบริษัทฯ มีกำลังการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (B100) สูงสุดที่ 330,000 ตันต่อปี น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) สูงสุดที่ 432,000 ตันต่อปี น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPO และ RBDPKO) สูงสุดที่ 540,000 ตันต่อปี และน้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) สูงสุดที่ 75,000 ตันต่อปี โดยเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ปตท. บีบีจีไอ (บางจาก) เชฟรอน เชลล์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบที่มีปริมาณการส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศปริมาณรวมไม่ต่ำกว่า 4-5 แสนตันต่อปี ผ่านคู่ค้าในต่างประเทศเพื่อขายให้กับลูกค้าในประเทศต่างๆ อาทิ มาเลเซีย อินเดีย จีน และประเทศในแถบยุโรป
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ PCE กล่าวต่อว่า PCE ได้วางยุทธศาสตร์สร้างการเติบโต เพื่อก้าวสู่ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มระดับประเทศ ผ่านกลยุทธ์ที่เป็นจุดแข็งของกลุ่มบริษัทฯ ได้แก่ ความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร และความพร้อมการจัดการระบบซัพพลายเชน (Supply Chain) โดยกลุ่มบริษัทฯ มีกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ ตลอดจนกระบวนการขนส่งที่ทันสมัย ด้วยประสบการณ์ตรงในอุตสาหกรรมเกือบ 40 ปี ทำให้เห็นภาพรวมที่แท้จริงของอุตสาหกรรม และลดต้นทุนโดยรวมผ่านการบริหารจัดซื้อ การบริหารการผลิต การจัดเก็บสินค้า ไปจนถึงกระบวนการจัดส่งสินค้าถึงลูกค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบ One Stop Service ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มีข้อได้เปรียบ เช่น มีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้วัตถุดิบ มีคลังจัดเก็บวัตถุดิบและสินค้า รวมทั้งท่าเรือทั้งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และฉะเชิงเทรา ตลอดจนธุรกิจขนส่งทางรถและทางเรือ และโรงงานผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล เป็นของตนเอง นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งของกลุ่มบริษัทฯ ยังอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ ใกล้แหล่งวัตถุดิบ ลูกค้า และท่าเรือ และมีกระบวนการผลิต และควบคุมคุณภาพที่ได้รับรองตามมาตรฐานสากล
นายกีรติ ชัยกุล ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานบัญชีและการเงิน PCE กล่าวว่า กลุ่มบริษัทฯ มีผลประกอบการย้อนหลังที่ดี แม้ในช่วงเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยมีรายได้รวมจากการขายและบริการในปี 2564-2566 เท่ากับ 28,178.54 ล้านบาท 32,696.15 ล้านบาท 24,722.79 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 847.33 ล้านบาท 214.40 ล้านบาท 330.50 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนงวด 6 เดือนแรกปี 2567 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้รวม 12,921.47 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 211.97 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ณ ปี 2566 รายได้หลักของกลุ่มบริษัทฯ มาจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มถึงร้อยละ 98.61 และมีสัดส่วนการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 63.67 และต่างประเทศ ร้อยละ 36.33
นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า PCE ถือเป็นหุ้นที่มีจุดเด่นต่างจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มรายอื่น โดยมีความพร้อมการจัดการระบบซัพพลายเชน (Supply Chain) ที่เสริมสร้างและสนับสนุนกันในแต่ละธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบและการผลิต การขาย และโลจิสติกส์ จึงมีศักยภาพและความพร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรระดับประเทศ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มทั้งภายในประเทศและตลาดโลก โดยล่าสุด PCE ได้ลงนามในสัญญาแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์ร่วม พร้อมแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์และรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์หุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)
นางสาวนลิน วิริยะเสถียร กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า PCE มีพื้นฐานการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร ครอบคลุมกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มดิบ โรงผลิตน้ำมันไบโอดีเซล โรงผลิตน้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค โรงไฟฟ้าก๊าซชีวมวล ให้บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ ให้บริการขนส่งสินค้าทางรถและทางเรือ โดย PCE มีแผนนำเงินที่ได้จากการเสนอขาย IPO ไปลงทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อขยายกิจการ เช่น โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดหาวัตถุดิบน้ำมันปาล์มดิบ รวมทั้งลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อขยายกำลังการผลิต พร้อมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ ตลอดจนใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม PCE ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของกลุ่มบริษัทในอนาคต
นายพายุพัด มหาผล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่าปัจจุบัน PCE ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ฯ จากสำนักงาน ก.ล.ต. และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) มีผลใช้บังคับแล้ว โดยจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 750 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 27.27 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ ล่าสุด PCE กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 2.08-2.28 บาทต่อหุ้น จะเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 และวันที่ 2-3 กันยายน 2567 และนักลงทุนสถาบันจองซื้อวันที่ 4-6 กันยายน 2567 สำหรับนักลงทุนสถาบัน และคาดว่าจะสามารถนำหุ้น PCE เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 3/2567 ทั้งนี้ มองว่าช่วงราคาเสนอขาย IPO ดังกล่าวมีความเหมาะสม สะท้อนความแข็งแกร่งพร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มครบวงจรระดับประเทศ
ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย