สถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทยมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง โดยมีปัจจัยหลายอย่างส่งผลกระทบทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นในทุกปี ส่งผลต่อความต้องการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในแต่ละปีมีประชากรไทยราว 1.5 ล้านคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คิดเป็น 2-3% ของประชากรทั้งหมด และจำนวนผู้ป่วยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและผู้สูงอายุ ซึ่งโรคซึมเศร้าไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึงการรักษา และผู้ป่วยบางรายไม่ยอมรับการรักษา เพราะกลัวการตีตรา หรือไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการรักษา
แพทย์หญิง ณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ BMHH หรือ Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่สามารถรักษาให้หายได้ แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความสัมพันธ์ของผู้ป่วยได้อย่างมาก ซึ่งการตรวจหาโรคในระยะเริ่มต้นเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยศูนย์รักษาโรคซึมเศร้าครบวงจรของ BMHH ให้ความสำคัญกับการประเมินอาการของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ พร้อมเริ่มต้นการรักษาได้ทันท่วงที โดยความร่วมมือของทีมสหสาขาวิชาชีพที่หลากหลาย ประกอบด้วย จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เภสัชกร และพยาบาล เป็นต้น
"การรักษาโรคซึมเศร้าไม่ใช่เพียงแค่การใช้ยารักษาเท่านั้น แต่จะต้องอาศัยการทำงานร่วมมือกันของทีมสหสาขาวิชาชีพที่หลากหลาย จึงจะช่วยให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ยกระดับการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญ BMHH เชื่อว่าการรักษาโรคซึมเศร้าที่ดีต้องเป็นการรักษาที่ปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพราะแต่ละคนมีปัจจัยที่ส่งผลต่อโรคแตกต่างกันไป เราจึงให้ความสำคัญกับการประเมินและประวัติของผู้ป่วยแต่ละรายอย่างละเอียด เพื่อช่วยให้การประเมินและวางแผนการรักษามีความแม่นยำเหมาะสมที่สุด ซึ่งมีทั้งการใช้ยา การทำจิตบำบัด รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น dTMS หรือ Deep Transcranial Magnetic Stimulation เป็นการใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองส่วนลึก เพื่อช่วยลดอาการซึมเศร้า"
โรคซึมเศร้า เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองหลายชนิด เช่น ซีโรโทนิน, นอร์เอพิเนฟริน และโดปามีน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเศร้าหมอง เบื่อหน่าย หมดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต รู้สึกสิ้นหวัง และอาจคิดฆ่าตัวตายได้ ซึ่งความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้างและการตีตราทางสังคมยังคงเป็นอุปสรรคในการเข้ารับการรักษา ทำให้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่กล้าไปพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม ดังนั้น การตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและการสนับสนุนที่เหมาะสม เพื่อที่จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
แพทย์หญิง ณัฏฐพัชร์ กล่าวสรุปว่า "โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องได้รับการรักษา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ศูนย์รักษาโรคซึมเศร้า BMHH ได้รับการออกแบบมาเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบและปลอดภัย มุ่งเน้นการให้บริการแบบครบวงจรและทันสมัย โดยให้ความสำคัญกับการตรวจหาโรคซึมเศร้าในระยะเริ่มต้น เรามีทีมสหสาขาวิชาชีพที่ร่วมมือกันวางแผนการรักษาและปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วย พร้อมรองรับความต้องการของผู้ป่วยที่กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า หรือครอบครัวที่ต้องการสนับสนุนผู้ป่วยให้ได้รับการรักษา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์แห่งนี้จะเป็นที่พึ่งพิงให้กับผู้ป่วย และเชื่อมั่นว่าการเปิดศูนย์รักษาโรคซึมเศร้าครบวงจรแห่งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในสังคม หากมีปัญหาสุขภาพจิต สามารถติดต่อเข้ามาสอบถามและรับการตรวจ ได้ที่ รพ. BMHH ติดต่อสอบถาม 02 589 1889 [email protected]"
ที่มา: ChomPR