"ตอนนี้สภาพแวดล้อม การใช้ชีวิตของคนภาคเหนือแตกต่างไปจากเดิม กำลังประสบปัญหากับฝุ่น PM 2.5 อย่างหนัก ส่งผลให้ธุรกิจหลายๆ แห่งต้องปิดตัวลง และผู้คนมีความเจ็บป่วยมากขึ้น ทำให้โครงสร้างของสังคมเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก มทร.ล้านนา ได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาลดภาวะฝุ่น PM 2.5 โดยการจัดทำพื้นที่เชฟโซนให้ชุมชน อย่างพื้นที่ดอยสะเก็ด มีการจัดทำศูนย์พักพิง หรือ การสร้างนวัตกรรมเครื่องดักจับฝุ่น และการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเผาป่า การแปรรูปอุตสาหกรรม พื้นที่ทางการเกษตรที่เป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดฝุ่นควัน" รศ.ดร.อุเทน กล่าวและว่า ทั้งนี้ 80-90% ของพื้นที่ภาคเหนือจะมีการแปรรูปอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตร โดยใช้วิธีการเผาที่ทำให้เกิดฝุ่นควันได้ ดังนั้น มทร.ล้านนา จะมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้าไปช่วยเกษตรกร ชาวบ้านเปลี่ยนเผาเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม
รศ.ดร.อุเทน กล่าวอีกว่า มทร.ล้านนามีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องของการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 การสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 จำนวนมาก อาทิ ศ.ดร.พานิช อินต๊ะ เป็นหัวหน้าหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศวกรรมและบรรณาธิการวารสารวิจัยเทคโนโลยีนวัตกรรม ซึ่งได้ทำเรื่องการจัดการฝุ่นมาตั้งแต่ตอนทำวิจัยปริญญาเอก และได้มีผลงานนวัตกรรมการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 มากมาย เช่น หน้ากากป้องกันฝุ่น เทคโนโลยีดักจับฝุ่น หรือเครื่องบำบัดอากาศระบบไฟฟ้าสถิต ที่มีการทำงาน 2 ขั้นตอนหลัก คือ การดักจับฝุ่นขนาด PM10 และ PM2.5 ด้วยระบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic ionizer) แล้วจึงฆ่าทั้งแบคทีเรียและไวรัสที่ลอยอยู่ในอากาศด้วยระบบนอนเทอร์มอลพลาสมา (Non-thermal plasma) ก่อนจะปล่อยอากาศสะอาดคืนสู่ภายนอก สามารถกำจัดฝุ่นออกจากอากาศได้มีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 99 เป็นต้น
รักษาการอธิการบดี มทร. ล้านนา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้น ทางมหาวิทยาลัยยังมีเทคโนโลยีเกี่ยวกับการจัดการไฟป่า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดหมอกควันทางภาคเหนือ และฝุ่น PM2.5 ได้ อย่าง "ระบบเซนเซอร์" ที่พัฒนาขึ้นเพื่อแจ้งเตือน และรู้พิกัดไฟป่า จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปดับเพลิงได้ทันควบคุมการลามของไฟป่าได้ เป็นการลดปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละออง PM2.5 อันเกิดจากไฟป่า และที่สำคัญลดการสูญเสียเจ้าหน้าที่ดับเพลิง เพราะที่ผ่านมาเวลาเข้าไปดับเพลิงหากไม่รู้ทิศทางลมมีหลายครั้งที่เกิดความสูญเสียในพื้นที่ รวมถึงพัฒนา "Smoke Watch : แอปพลิเคชันแจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่า จากการเผาในที่โล่ง ร่วมกับทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อบริหารจัดการข้อมูลการแจ้งเหตุเผาไฟป่า และเข้าระงับเหตุได้ตรงจุดอย่างรวดเร็ว เป็นต้น โดยมีเป้าหมายขยายพื้นที่ติดตั้งระบบและนวัตกรรมต่างๆ ให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ
"อย่างไรก็ตาม มทร.ล้านนา ได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ทุกระดับ ทั้งระดับชุมชน จังหวัด และภายในมหาวิทยาลัย โดยในมหาวิทยาลัยจะมีการจัดทำห้องปลอดฝุ่น มีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในห้องเรียน มีการปลูกต้นไม้สีเขียวมากขึ้น และมีระบบแจ้งเตือนเมื่อค่าฝุ่นPM2.5 เกินมาตรฐาน รวมถึงการปลูกฝัง และขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่บุคลากรทุกคนให้ร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5" รศ.ดร.อุเทน กล่าว
ที่มา: แมวกวัก