เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) และ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วาริท เจาะจิตต์ รองอธิการบดีมวล. และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสดร. ลงนามเป็นพยาน พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงานของทั้งสองหน่วยงานเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
การลงนามในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมโครงการความร่วมมือทางด้านกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส (VLBI Global Observing System: VGOS) จ.นครศรีธรรมราช รวมทั้งการสนับสนุนให้บุคลากรของหน่วยงานทั้งสองฝ่ายได้รับการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านดาราศาสตร์และวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน
โดย สดร. และม.วลัยลักษณ์ จะร่วมกันบริหารโครงการก่อสร้างอาคารที่เป็นฐานกล้องและติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส ขนาด 13 เมตร ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบัน Shanghai Astronomical Observatory (SHAO), Chinese Academy of Science, China มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2568
ส่วนม.วลัยลักษณ์ จะรับผิดชอบจัดหาและมอบการใช้พื้นที่ให้แก่ สดร. เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส และทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันบริหารจัดการและประสานงานกับ SHAO เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารฐานกล้อง ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอส ตัวรับสัญญาณ และทดสอบการใช้งานต่อไป
ที่สำคัญทั้งสองสถาบันจะร่วมกันวิจัยและพัฒนาทักษะความรู้ทางด้านดาราศาสตร์วิทยุ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุวีกอสเป็นเครื่องมือหลักสำหรับการศึกษาด้านยีออเดซี่ (Geodesy) หรือภูมิมาตรศาสตร์ เพื่อศึกษารูปร่าง สัณฐานและลักษณะเฉพาะต่าง ๆ ของโลก ผ่านศาสตร์การรังวัด ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความถูกต้องสูงระดับมิลลิเมตร โดยบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เกี่ยวข้องและได้รับจากกล้องโทรทรรศน์วีกอส เพื่อการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย และผลงานวิจัยหรือผลงานวิชาการต่าง ๆ ที่ได้รับจากกล้องโทรทรรศน์วีกอส จะให้มีการระบุชื่อมหาวิทยาลัยอยู่ในผลงานด้วย
นอกจากนี้ สดร. จะให้การสนับสนุนการถ่ายทอดทักษะความรู้และเทคโนโลยีทางด้านดาราศาสตร์และวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการให้กับม.วลัยลักษณ์ อาทิ ทักษะความรู้ทางด้านดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ (Geodesy) เทคโนโลยีระบบรับและประมวลสัญญาณคลื่นวิทยุ การพัฒนาระบบควบคุมกล้องโทรทรรศน์วิทยุ การวิเคราะห์ข้อมูลและวิทยาการข้อมูล เป็นต้น เพื่อให้ทั้งสองหน่วยงานได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเพิ่มพูนทักษะความรู้ร่วมกัน รวมไปจนถึงการต่อยอดความร่วมมือด้านอื่น ๆ ในอนาคตด้วย
ที่มา: มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์