คุณภาสกร ปานนอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า "Bitkub Chain เห็นโอกาสในการให้ศิลปินได้แสดงศักยภาพและทักษะในการสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งศิลปินสามารถนำความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องไปต่อยอดในสายอาชีพได้ในอนาคต ทั้งนี้ ความสำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชนจะช่วยเสริมและเติมเต็มในแง่มุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะการเป็นเจ้าของผลงานที่แท้จริง (True Ownership) ทำให้สามารถช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับทั้งศิลปิน ผู้ซื้อ และนักสะสม โดยทุกธุรกรรมหรือการแลกเปลี่ยนความเป็นเจ้าของจะถูกบันทึกไว้บนบล็อกเชนที่ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนประวัติธุรกรรมได้และทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีบล็อกเชนได้รับความสนใจในการศึกษาอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบล็อกเชนจะเข้ามาขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโลกในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ ยังเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทในการยกระดับการดำเนินงานทั้งภาครัฐ เอกชน และการศึกษา ซึ่งจะสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนไทยที่มีศักยภาพ โดยศิลปินจะได้รับการอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนผ่านแพลตฟอร์ม Bitkub NFT ที่สามารถต่อยอด และนำความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องไปใช้ต่อยอดในสายอาชีพของศิลปินแต่ละท่านได้"
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า "NIA ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ เพื่อกระจายโอกาสการพัฒนานวัตกรรมไปสู่ภูมิภาคและหัวเมืองใหญ่ โดยใช้จุดเด่นหรืออัตลักษณ์ของพื้นที่มาพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าใหม่ รายได้ใหม่ หรือเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งได้นำร่องร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี และภาคเอกชนของจังหวัดอุบลราชธานีจัดกิจกรรมนำเสนองานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ UBON ART FEST ขึ้น เพื่อนำศิลปวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ เช่น ศิลปะภาพวาด ศิลปะจิตกรรมผาผนังเรืองแสง งานแกะสลักเทียน งานแกะสลักน้ำแข็ง งานดนตรี และการทำอาหาร อันเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดอุบลราชธานีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มานำเสนอให้อยู่ในรูปแบบร่วมสมัยและผสมผสานการใช้เทคโนโลยีสร้างคุณค่าและมูลค่าใหม่ให้เป็นที่จดจำ รับกับสังคมยุคดิจิทัลและคนรุ่นใหม่"
"จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นประกอบกับอุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีศิลปินแห่งชาติจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย จึงทำให้ NIA เห็นโอกาสในการพัฒนาให้เป็นต้นแบบเมืองศูนย์กลางด้านการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มช่องทางการนำเสนองานศิลปะรูปแบบใหม่ ซึ่งหนึ่งผลงานที่นำมาใช้ต่อยอดครั้งนี้คือ "นิลน้อย NFT project" ที่เป็นการนำงานศิลปะแบบดั้งเดิมมาแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล โดยชื่อ "นิลน้อย" มาจาก "นิลมังกร" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เสมือนตัวแทนของผู้ประกอบการธุรกิจภูมิภาคที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ "นิลน้อย" จึงเปรียบเสมือนศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะในพื้นที่ที่เราต้องเร่งส่งเสริมการสร้างรายได้และขยายผลให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จะเห็นได้ว่า NFT (Non-Fungible Token) เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพื่อนำเสนองานศิลปะหรือของสะสมทางดิจิทัล โดยศิลปะดิจิทัลบางชิ้นสามารถสร้างรายได้จำนวนมากให้กับศิลปิน ทำให้ศิลปินหลายท่านแจ้งเกิดและได้รับรายได้อย่างก้าวกระโดดจากการขาย NFT แค่ภาพเดียว ดังนั้น การแปลงผลงานศิลปะของศิลปินในพื้นที่ให้อยู่ในรูปแบบของสินทรัพย์ทางดิจิทัลจะสามารถสร้างโอกาสให้กับศิลปินผ่าน Bitkub NFT ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม NFT ในรูปแบบตลาดแรกของ Bitkub Chain จะทำให้ศิลปินเหล่านั้นมีพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน NFT Art และมีช่องทางการต่อยอดการสร้างรายได้ในสายอาชีพได้ในอนาคต โดยเฉพาะโอกาสในตลาดต่างประเทศ รวมถึงสร้างการรับรู้ให้กับจังหวัดอุบลราชธานีในฐานะเมืองศูนย์กลางของการสื่อสารศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือในทางร่วมสมัยรับกับสังคมยุคดิจิทัลและคนรุ่นใหม่" ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง กล่าวเพิ่มเติม
ศ.ดร. ธนะเศรษฐ์ ง้าวหิรัญพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยศิลปากรมีความโดดเด่นด้านศิลปะ ซึ่งสิ่งที่เน้นมากกว่าการผลิตผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ คือ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังผลผลิต เราพยายามปลูกฝังคุณค่า แนวคิด การสืบสาน และการอนุรักษ์ศิลปะ ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผ่านการเชื่อมโยงนวัตกรรมและเทคโนโลยีผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการต่อยอดงานด้านศิลปวัฒนธรรม นับว่าเป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นไทยและยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของไทยให้เข้าถึงกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่มากขึ้น ดังนั้น โครงการ "นิลน้อย" ที่เป็นการส่งเสริมการตลาดศิลปวัฒนธรรมบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม จึงเป็นการส่งเสริมเยาวชนให้มีโอกาสสร้างชื่อเสียงและรายได้ผ่าน Bitkub NFT โดยมุ่งเน้นให้เยาวชนรุ่นใหม่ตระหนักถึงศิลปะและวัฒนธรรมของไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ซึ่งถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนให้ก้าวทันเทคโนโลยีโดยไม่ลืมรากฐานอันดีของไทย"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิสิฐ ตั้งพรประเสริฐ ผู้บริหารโครงการ "นิลน้อย" กล่าวว่า "โครงการนี้ต่อยอดมาจากงาน UBON ART FEST โดยเป็นการนำงานที่สร้างสรรค์ขึ้นจากศิลปินหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่มาพัฒนาเป็นผลงานในรูปแบบ NFT และเปิดโอกาสให้ผู้ที่ชื่นชอบผลงานศิลปะดิจิทัลได้เป็นเจ้าของผ่านกลยุทธ์ที่ทีมงานจะช่วยเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่คาดหวังให้กับผู้ที่มีความสนใจในตัวงาน ซึ่งต้องทำงานร่วมกับกลุ่มศิลปิน Fine Art และ ศิลปิน NFT โดยการสร้างสรรค์ผลงานในแบบของตัวเอง ต้องมีความเคารพ ความศรัทธา และความไว้ใจเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการสร้างโอกาสและเวทีให้พวกเขาได้เป็นที่รู้จักในฐานะศิลปิน และการที่เราจะเข้าไปหาทั้งคนซื้อและผู้ผลิตจะต้องดูกันด้วยคุณค่าที่ต่างฝ่ายมองหา ซึ่งมีคุณค่าที่โดดเด่นในเชิงงานศิลปะแบบสวยงาม เช่น วงการ NFT ความสวยงามเป็นเรื่องหนึ่งแต่จะอยู่ในรูปแบบที่เป็นงานศิลปะแบบไฟล์มากกว่าการปรินท์รูปออกมา สำหรับการทำงานร่วมกับศิลปินชาวอุบลฯ นั้น ภาพที่สื่อเป็นตัวแทนนั่นคือ "พญานาค" ที่ต้องนำมาขยายไอเดียของการนำเสนอคุณค่า โดยมีพันธมิตรอย่างบิทคับ เชนช่วยเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ได้ระดับมาตรฐาน"
ที่มา: Bitkub Capital Group Holdings