เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๗ นายณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล ๗.๑ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด (N Health) บริษัท ไบโอ โมเลกุลลาร์ แลบบอราทอรี่ส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอ็นเฮลท์ โนโวยีน จีโนมิกส์ จำกัด พร้อมด้วยแพทย์หญิงเมธินี ไหมแพง ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม ๑ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด (N Health) และดร.ทวีศักดิ์ ตีระวัฒนพงษ์ กรรมการ บริษัท ไบโอ โมเลกุลลาร์ แลบบอราทอรี่ส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และศาสตราจารย์นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช พร้อมด้วย ดร.ธิดาทิพย์ วงศ์สุรวัฒน์ หัวหน้าหน่วยชีวสารสนเทศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อศึกษารหัสพันธุกรรม และพัฒนาวิธีการแพทย์จีโนมิกส์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics Medicine) เพื่อพัฒนายกระดับความรู้ ทักษะการแพทย์จีโนมิกส์ ต่อยอดงานวิจัย และสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญการแพทย์จีโนมิกส์ร่วมกัน โดยมี มร.เบน มอร์ลี่ย์ ทูตพาณิชย์และผู้อำนวยการฝ่ายการค้าระหว่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน
ปัจจุบันการแพทย์จีโนมิกส์ นับเป็นความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มาพลิกโฉมวงการแพทย์ทั่วโลก และได้รับการจับตามองในฐานะเมกะเทรนด์ระดับโลกที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับและเติมเต็มอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ การแพทย์จีโนมิกส์ เป็นแนวทางการรักษาสมัยใหม่ที่ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ แม่นยำ สร้างผลกระทบสูงทั้งทางสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัย และให้การรักษาที่ตรงจุดกับผู้ป่วยได้ทันท่วงที เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการวิจัย และถอดรหัสพันธุกรรม ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการบูรณาการเทคโนโลยีจีโนมเข้ากับการวิจัย และบริการทางคลินิก ส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ และการแพทย์แม่นยำในโรงพยาบาลศิริราช โดยศูนย์ฯ มีการนำเทคโนโลยีการหาลำดับเบสแบบต่างๆ มาใช้ในการวินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยอย่างตรงจุด รวมถึงเริ่มนำเทคโนโลยี Nanopore ที่ให้ข้อมูลลำดับ DNA แบบสายยาว ครอบคลุมการกลายพันธุ์ที่เทคโนโลยีดั้งเดิม ไม่สามารถตรวจสอบได้มาตรวจหาการกลายพันธุ์ใหม่ๆ และช่วยย่นระยะเวลาที่แพทย์ และผู้ป่วยจะได้รับผลการวินิจฉัย เช่น ตรวจสอบการกลายพันธุ์ของมะเร็ง นำไปสู่การจัดกลุ่มผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์สามารถเลือกการรักษาที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน และมีผลข้างเคียงน้อยลง
ศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า "ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช เป็นที่แรกในประเทศไทยที่นำเทคโนโลยี Nanopore มาใช้ทางคลินิก โดยใช้ตรวจหาการกลายพันธุ์ของมะเร็งเพื่อการวินิจฉัย การจัดกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งสมอง เพื่อการรักษาการระบุรูปแบบยีนที่มีความเสี่ยงต่อการแพ้ยาต่างๆ ที่นิยมใช้ในประเทศ โดยมีทีมนักวิจัยจากหน่วยชีวสารสนเทศทางการแพทย์เป็นผู้พัฒนาโปรแกรมเพื่อรองรับข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยี Nanopore มาตอบโจทย์การตรวจดังกล่าว โดยมุ่งหวังที่จะนำไปสู่การยกระดับการรักษาการดูแลผู้ป่วย และการป้องกันเฉพาะบุคคลได้อย่างครบวงจร และมีประสิทธิภาพ" นอกจากนี้กลุ่มนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการ Siriraj Long-Read Lab ภายใต้หน่วยชีวสารสนเทศทางการแพทย์ ยังจัดเตรียมความพร้อมเพื่ออบรมการใช้เทคโนโลยี Nanopore ให้กับนักศึกษาแพทย์ อาจารย์ รวมถึงนักวิจัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ด้านบริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด หรือ N Health (เอ็น เฮลท์) ในเครือ BDMS ถือเป็นผู้นำในบริการสนับสนุนทางการแพทย์ และธุรกิจโรงพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลชั้นนำทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ด้วยความเชี่ยวชาญในด้านห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ N Health มุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการด้านการแพทย์จีโนมิกส์
นายณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ กล่าวว่า "ประเทศไทยมีการตรวจวิเคราะห์ยีนเฉพาะบุคคลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังมีความผิดปกติ และลักษณะของโรคอีกจำนวนมาก ที่เทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่สามารถหาคำตอบได้ เราจึงต้องแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการวินิจฉัย และการรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว และความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริม และพัฒนาการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย N Health จึงผสานความร่วมมือกับศิริราช ในการพัฒนาทักษะการแพทย์จีโนมิกส์ และวิธีการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมที่ใช้เทคโนโลยี Long-Read Sequencing เพื่อส่งเสริม และพัฒนาการแพทย์แบบองค์รวม ทั้งในด้านการบริหารทรัพยากรเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการส่งเสริมบุคลากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เกิดความรู้ ความเชี่ยวชาญ สามารถนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ ตลอดจนผลงานวิจัย หรือผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือนี้ไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย และเชิงสาธารณะ"
โดย N Health และศิริราช มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะยกระดับขีดความสามารถทางการแพทย์ของไทยให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาแบบเฉพาะบุคคล และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางจีโนมิกส์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา: ไอคลิก คอมมิวนิเคชั่นส์