สิ่งที่ตามมาหลังการพัฒนาเทคโนโลยีของเครื่องยนต์ให้มีความรักษ์โลก คือ "การพัฒนาน้ำมันเครื่อง" ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องรุ่นปรับปรุงคุณภาพใหม่ล่าสุด สามารถใช้งานได้กับเครื่องยนต์รุ่นที่ถูกออกแบบมาให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันเครื่องรุ่นใหม่ จะเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานของน้ำมันเครื่องแต่ละแบบ ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ โดยในยุคที่ผู้คนตื่นตัวในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม มาตรฐานของน้ำมันเครื่องรุ่นใหม่จึงจำเป็นต้องเพิ่มประเด็นที่เกี่ยวกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลงในทุก ๆ ด้าน นี่จึงเป็นเกณฑ์ใหม่ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องรุ่นใหม่เพื่อให้ผ่านการรับรองมาตรฐานว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เคย และจะมีผลต่อการพิจารณาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของผู้ใช้รถอย่างแน่นอน
ดังนั้น การกำหนดมาตรฐานของน้ำมันเครื่องยุคใหม่จึงต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องยนต์ และต้องมีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ยิ่งถ้าน้ำมันเครื่องผ่านมาตรฐานระดับสูง ผู้ใช้รถสามารถมั่นใจได้ว่าน้ำมันเครื่องที่ตนเองเลือกใช้ จะช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างราบรื่น และยังช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วย นี่จึงเป็นความสำคัญในการกำหนดมาตรฐานน้ำมันเครื่องรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
มาตรฐานของน้ำมันเครื่อง บอกอะไรเราได้บ้าง
มาตรฐานน้ำมันเครื่อง เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่บอกข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพและประสิทธิภาพของน้ำมันเครื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ใช้รถจะต้องพิจารณาในการเลือกน้ำมันเครื่องมาใช้กับรถของตนให้เหมาะสม มาตรฐานเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นโดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านน้ำมันเครื่องและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผู้ใช้รถจึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องที่ตนเลือกใช้นั้นผ่านมาตรฐาน และสามารถนำมาใช้กับรถได้อย่างปลอดภัย
นอกจากเรื่องของคุณภาพและประสิทธิภาพของน้ำมันเครื่องแล้ว มาตรฐานน้ำมันเครื่องยังแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมน้ำมันเครื่อง เพราะมาตรฐานเหล่านี้จะมีการปรับปรุงใหม่อยู่เสมอ ผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องรุ่นใหม่ ๆ จะต้องสอดคล้องและไปกันได้กับเทคโนโลยีเครื่องยนต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับรถพลังงานทางเลือกได้ และที่สำคัญ จะต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนด้วย
กล่าวคือ มาตรฐานน้ำมันเครื่องรุ่นใหม่ ๆ จะต้องผ่านเกณฑ์เรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่อุตสาหกรรมน้ำมันเครื่องหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นเพื่อควบคุมมลพิษและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลและปกป้องเครื่องยนต์ เพราะทุกส่วนมีความเกี่ยวเนื่องกัน น้ำมันเครื่องคุณภาพสูงที่ช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ รักษาความสะอาดเครื่องยนต์เป็นอย่างดี รถจะประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงมากขึ้น อีกทั้งการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเครื่องจะช่วยยืดทั้งอายุเครื่องยนต์และยืดอายุของน้ำมันเครื่อง ลดความจำเป็นในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องบ่อยครั้ง ช่วยให้ประหยัดทรัพยากรและลดปริมาณของเสีย
ดังนั้น หากผู้ใช้รถพิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องโดยคำนึงถึงมาตรฐานเป็นสำคัญ จะช่วยให้คุณได้ดูแลทั้งรถที่คุณรักอย่างถูกต้องเหมาะสม ไปพร้อม ๆ กับช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน
มาตรฐาน API (American Petroleum Institute)
มาตรฐาน API คือมาตรฐานน้ำมันปิโตรเลียมที่กำหนดขึ้นโดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งสหรัฐอเมริกา (American Petroleum Institute) ซึ่งเป็นหน่วยงานทดสอบคุณภาพน้ำมันเครื่อง ทั้งด้านการหล่อลื่น การระบายความร้อน การชะล้างทำความสะอาด และคุณภาพอื่น ๆ น้ำมันเครื่องแต่ละรุ่นจะต้องผ่านการทดสอบตามเงื่อนไขที่กำหนด จากนั้นน้ำมันเครื่องจะถูกแบ่งเกรดเป็นมาตรฐานระดับต่าง ๆ ให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในเครื่องยนต์รุ่นใหม่ ๆ
มาตรฐาน API จะมีการระบุตัวอักษร 2 ตัว อักษรตัวแรกจะบอกประเภทของเครื่องยนต์ที่เหมาะสมต่อการใช้งาน ตามด้วยตัวอักษรที่ใช้ระบุมาตรฐานของน้ำมันเครื่อง ซึ่งลำดับของตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวที่ 2 นี้ จะบอกถึงระดับในการพัฒนาคุณภาพน้ำมันเครื่อง ยิ่งตัวอักษรตัวที่ 2 ไกลจากตัว A มากเท่าไร แปลว่ามาตรฐานของน้ำมันเครื่องยิ่งสูงขึ้น ดังนั้น น้ำมันเครื่องเกรด A จึงมีมาตรฐานต่ำที่สุด ตามมาตรฐาน API
- API S สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน มาตรฐานสูงสุดเวลานี้ คือ API SP ที่ปรับปรุงมาจาก API SN โดยเพิ่มความสามารถในการช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง ปกป้องเครื่องยนต์จากการสึกหรอได้ดีขึ้น และลดการสะสมของคราบและตะกอนในเครื่องยนต์ โดย IDEMITSU IFG 7-5-3 เป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องที่ได้มาตรฐาน API SP
- API C สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลงานหนัก มาตรฐานสูงสุดเวลานี้ คือ API CK-4 (เลข 4 หมายความว่าใช้กับเครื่องยนต์ 4 จังหวะ) ที่ปรับปรุงจาก API CJ-4 เพื่อช่วยลดการก่อคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก
- API F สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลงานหนัก แต่เพิ่มคุณสมบัติในการกำหนดค่าความหนืด ที่ช่วยให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากขึ้น มาตรฐานล่าสุด คือ API FA-4 ที่ปรับปรุงให้ลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ที่ออกแบบมาใหม่
น้ำมันเครื่องที่ผ่านมาตรฐาน API จะมีสัญลักษณ์ API Service Symbol หรือ API Donut แสดงอยู่บนบรรจุภัณฑ์ โดยปกติแล้ว มาตรฐาน API จะถูกปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีเครื่องยนต์รุ่นใหม่ ๆ และเพิ่มเกณฑ์ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น
สำหรับมาตรฐาน API กับประเด็นสิ่งแวดล้อม จะมีการกำหนดคุณสมบัติของน้ำมันเครื่องว่าต้องช่วยลดการปล่อยก๊าซพิษจากกระบวนการเผาไหม้ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมลพิษในอากาศ มีการใส่สารเพิ่มคุณภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์และป้องกันการสึกหรอ ลดการสะสมของเขม่าคาร์บอน ป้องกันการเกิดและสะสมของตะกอนน้ำมันเครื่อง จึงช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ ประหยัดเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากไอเสีย สอดคล้องกับมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงต้านทานการเกิดออกซิเดชัน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ทำให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพเร็ว
มาตรฐาน ILSAC (International Lubricants Standardization and Approval Committee)
มาตรฐาน ILSAC เป็นมาตรฐานน้ำมันเครื่องสากลที่พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสมาคมผู้ผลิตยานยนต์อเมริกา (American Automobile Manufacturers Association - AAMA) และสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่น (Japan Automobile Manufacturers Association - JAMA) เพื่อกำหนดคุณสมบัติและสร้างมาตรฐานคุณภาพของน้ำมันเครื่องร่วมกัน ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ผลิตยานยนต์ทั่วโลก
มาตรฐาน ILSAC จะใช้ตัวอักษร GF ตามด้วยหมายเลขรุ่น ในการแสดงถึงรุ่นต่าง ๆ ของมาตรฐานนั้น โดยหมายเลขรุ่นแต่ละรุ่นที่สูงขึ้น ก็จะมีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีเครื่องยนต์ใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป และมีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น
มาตรฐาน ILSAC ล่าสุดคือ ILSAC GF-6 ที่เปิดตัวในปี 2020 เป็นมาตรฐานที่มีการปรับปรุงเรื่องการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ด้วยสารเพิ่มคุณภาพที่ช่วยลดแรงเสียดทานในเครื่องยนต์ จึงเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการรักษาความสะอาดเครื่องยนต์ ลดการสะสมของคราบเขม่าและสิ่งสกปรก ที่ช่วยควบคุมการปล่อยก๊าซพิษ ป้องกันการสึกหรอของเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการควบคุมปริมาณสารฟอสฟอรัส ซัลเฟอร์ และเถ้าซัลเฟต และเพิ่มความทนทานต่อการเกิดออกซิเดชัน เพื่อยืดอายุของน้ำมันเครื่อง โดยผลิตภัณฑ์ IDEMITSU IFG 7-5-3 ก็ผ่านการรับรองมาตรฐาน ILSAC GF-6 นี้ด้วย
มาตรฐาน ACEA (Association des Constructeurs Europeens d'Automobiles)
มาตรฐาน ACEA เป็นมาตรฐานน้ำมันเครื่องที่กำหนดโดยสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งทวีปยุโรป (The Association des Constructeurs Europeens d'Automobiles) เพื่อควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพของน้ำมันเครื่องที่ใช้ในยานยนต์ มาตรฐาน ACEA จัดหมวดหมู่คุณภาพและประสิทธิภาพของน้ำมันด้วยตัวอักษร (คลาส) และตัวเลข (หมวดหมู่)
- ACEA A สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน ACEA B สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล ที่ไม่ได้ติดตั้งตัวกรองอนุภาคไอเสีย โดย A1/B1, A5/B5 เป็นน้ำมันเครื่องที่เน้นประหยัดพลังงาน และ A3/B3, A3/B4 เป็นน้ำมันเครื่องที่มีความเสถียรในระยะยาว เหมาะสำหรับเครื่องยนต์ที่มีสมรรถนะสูง โดย IDEMITSU IFD 7 5W-40 A3B4 ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ACEA A3/B4
- ACEA C สำหรับเครื่องยนต์เบนซินและดีเซลงานเบาที่ติดตั้งตัวกรองอนุภาคไอเสีย จึงจำเป็นต้องใช้น้ำมันเครื่องที่มีปริมาณเถ้าซัลเฟต ฟอสฟอรัส และซัลเฟอร์ต่ำ เพื่อป้องกันการอุดตัน โดย IDEMITSU IFD 7 5W-30 C3 ผ่านการรับรองมาตรฐาน ACEA C3
- ACEA E สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลงานหนัก เช่น รถบรรทุกหรือรถโดยสาร ที่ต้องการน้ำมันเครื่องที่ทำงานได้ในสภาวะที่มีความเค้นสูง และมีความสามารถในการปกป้องเครื่องยนต์จากการสึกหรอ
มาตรฐาน ACEA กับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเป็นไปตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป กล่าวคือน้ำมันเครื่องที่ผ่านมาตรฐานนี้จะต้องช่วยลดการปล่อยมลพิษ ทั้งก๊าซที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและอนุภาคขนาดเล็ก เพื่อคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันให้มีความเสียดทานต่ำ เพื่อช่วยประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ลง เพิ่มคุณภาพให้น้ำมันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกอุณหภูมิ จึงช่วยลดการสึกหรอและยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ รวมถึงพัฒนาให้น้ำมันมีความทนทาน ลดความถี่ในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องที่จะกลายเป็นของเสีย
มาตรฐาน JASO (Japanese Automotive Standards Organization)
มาตรฐาน JASO เป็นมาตรฐานทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่น กำหนดขึ้นโดยองค์กรมาตรฐานยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (Japanese Automobile Standard Organization) เพื่อใช้ควบคุมมาตรฐานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบอื่น ๆ ในยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ ที่ผลิตในญี่ปุ่น
สำหรับมาตรฐาน JASO ที่ใช้กับรถจักรยานยนต์ จะใช้ค่าแรงเสียดทานของระบบคลัตช์แห้งและคลัตช์เปียก เป็นตัวกำหนดมาตรฐานของน้ำมันเครื่อง โดยจะมีการระบุตัวอักษรต่อท้ายเพื่อบอกชนิดของเครื่องยนต์ที่ใช้ได้
- JASO MA น้ำมันเครื่องที่เหมาะกับรถระบบเกียร์ธรรมดา คลัตช์เปียก โดย JASO MA1 ใช้กับรถจักรยานยนต์ใช้งานทั่วไป แรงเสียดทานปานกลาง และ JASO MA2 ใช้กับรถจักรยานยนต์ที่ใช้งานหนักขึ้น มีการปล่อยคลัตช์หนักหน่วง หรือใช้สำหรับแข่งขัน ซึ่ง IDEMITSU IRG 7 10W-40 MA2 ผ่านมาตรฐานนี้
- JASO MB น้ำมันเครื่องที่เหมาะกับรถระบบเกียร์อัตโนมัติ คลัตช์แห้ง เป็นน้ำมันเครื่องที่มีความลื่นสูงกว่า JASO MA อย่าง IDEMITSU IRG 5 10W-40 MB ผ่านมาตรฐานนี้
แม้ว่ามาตรฐาน JASO จะเป็นมาตรฐานยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่น แต่ก็เป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในวงการอุตสาหกรรมน้ำมันเครื่องในระดับสากล เนื่องจากเป็นมาตรฐานที่มีความเข้มงวด มีความน่าเชื่อถือในเรื่องของการควบคุมคุณภาพ และให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ โดยกำหนดขีดจำกัดของปริมาณสารก่อมลพิษที่เครื่องยนต์สามารถปล่อยได้ ทั้งก๊าซมลพิษและอนุภาคขนาดเล็ก
ฉะนั้นแล้ว การที่ผู้ใช้รถจะเลือกผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องมาใช้งาน นอกจากจะพิจารณาว่าเหมาะกับรถและการใช้งานของรถตนเองหรือไม่แล้ว อาจต้องพิจารณาถึงมาตรฐานของน้ำมันเครื่องด้วยว่าผ่านการรับรองมาตรฐานตัวใดบ้าง เพราะสามารถบ่งชี้ได้ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนในการดูแลรถคู่ใจ และยังมีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยตามมาตรฐานที่สูงขึ้น เพื่อที่เราจะได้เลือกผลิตภัณฑ์ที่ทั้งปกป้องเครื่องยนต์อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน เลือกน้ำมันเครื่องที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษ ลดการเกิดของเสีย จากอายุการใช้งานที่เพิ่มขึ้นทั้งเครื่องยนต์และตัวน้ำมัน และลดการใช้ทรัพยากร เพื่อให้โลกใบนี้ได้มีโอกาสฟื้นฟูตัวเองจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้
ที่มา: ต้นคิด มีเดีย