ความเสมอภาคระหว่างเพศ กุญแจสู่การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
นางวรรณภา สุขคง รองอธิบดีกรมการกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เริ่มการเสวนาโดยกล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมความเท่าเทียมของภาครัฐว่า "ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมุ่งส่งเสริมและแก้ไขปัญหาด้านความเท่าเทียมทางเพศในสังคม ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักการของสหประชาชาติ หรือ SDG โดยเฉพาะในเป้าหมายที่ 5 ว่าเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งในผู้หญิง โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ ผ่านกลไกมาตรการ นโยบาย และสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ขจัดการเลือกปฏิบัติและความไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ซึ่งจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่ผ่านมา ทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเป็นที่เรียบร้อย นับเป็นความเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญที่เกิดจากพลังของทุกคนทุกฝ่ายร่วมกัน"
เปลี่ยนความคิด สร้างความเข้าใจด้วยคอนเทนต์คุณภาพ
ทางด้าน คุณปิยะรัฐ กัลย์จาฤก ผู้อำนวยการเทศกาล 'THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ+ FILM & TV FESTIVAL' เปิดเผยว่า "การสร้างคอนเทนต์คุณภาพในปัจจุบันถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมทั้งยังเป็นกระบอกเสียงที่สร้างความเข้าใจให้กลุ่ม LGBTQ+ เป็นที่ยอมรับ ซึ่งคอนเทนต์ที่ดีต้องมาคู่กับอีเวนต์ที่ดี จึงจะมีพลังในการสื่อสารเพื่อสร้างคุณค่าทั้งทางจิตใจและเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่าประเทศไทยมีความเคลื่อนไหวของกิจกรรมและสื่อรูปแบบต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายได้เป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่และนำเสนอความหลากหลายอย่างสร้างสรรค์ อาทิ รายการ The Face Thailand ที่ให้โอกาสคนข้ามเพศได้มีส่วนร่วมเข้าประกวด โดยไม่จำกัดแค่เฉพาะเพศหญิงเท่านั้น, การประกวด Drag Race Thailand ที่ช่วยสื่อสารให้สังคมเข้าใจกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น รวมถึงการผลิตซีรีย์ Girl love และ Boy Love ที่นำเสนอมุมมองการใช้ชีวิตและความรักของกลุ่มผู้มีความหลากหลาย เป็นต้น
ความหลากหลายพาเศรษฐกิจโตท่ามกลางโลกยุคใหม่
ปิดท้ายที่ คุณอรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้งบางกอกไพรด์ กล่าวว่า การสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ ผ่านสื่อภาพยนตร์ ช่วยให้ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องเข้าใจง่ายและเข้าถึงใจคนทุกวัย โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวที่เป็นสถาบันหลัก รวมทั้งการมีกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเทศกาล "THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ+ FILM & TV FESTIVAL 2024" ที่เกิดขึ้น สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกในทางสังคมและเศรษฐกิจหลายด้าน โดยเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยจะมีการจัดกิจกรรมการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมที่ใหญ่ที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นเจ้าภาพในการจัด World Pride ซึ่งจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจใน 4 ด้าน ได้แก่
- การท่องเที่ยว เสริมแกร่งด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมหลักที่ดึงดูดชาวต่างชาติจากทั่วโลก ผ่านการสร้างจุดขายผลักดันประเทศไทยเป็น "Destination LGBTQ+ Friendly"
- ภาพยนตร์และซีรีส์ (Films and Series) การผลิตคอนเทนต์คุณภาพโดยทีมงานคุณภาพในประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ LGBTQ+ มีมูลค่าสูงถึง 4,000 ล้านบาท
- อุตสาหกรรมบันเทิง (Entertainment Industry)การแสดงโชว์กลุ่มคาบาเรต์, การแต่ง Drag และเทศกาลต่างๆ ของ LGBTQ+ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย
- อุตสาหกรรมการบริการทางการแพทย์ (Medical and Wellness) ที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินมหาศาลได้จากบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น การผ่าตัดแปลงเพศ เฉลี่ย 2 แสนถึง 2 ล้านบาทต่อครั้ง เป็นต้น
"กิจกรรมและความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ จะพาประเทศไทยเปิดประตูสู่ยุคใหม่ และจะเป็นประตูบานแรกของเอเชียที่เปิดรับความหลากหลายอย่างแท้จริง ตั้งแต่ระดับสังคม กฎหมาย และประเทศ นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจท่ามกลางโลกยุคปัจจุบัน พร้อมเป็นหนทางพาไปสู่การค้นพบโอกาสใหม่ ๆ ที่รอเราอยู่" คุณอรรณว์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก TILFF: https://www.facebook.com/tilff.official
ที่มา: ChomPR