โอกาสนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว. ) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน ดร.เรวดี อนุวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญวิจัย กลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยทีมนักวิจัยและบุคลากร วว. ได้แก่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ และสำนักจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมให้การต้อนรับ ในการนี้ ดร.เรวดีฯ ได้บรรยายถ่ายทอดความรู้ เรื่อง "การจัดการขยะเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่ม Regenerative Waste" และนำคณะฯ เยี่ยมชมการเดินระบบคัดแยกขยะแบบครบวงจรด้วย
"...เราต้องมีสติและปัญญา ใช้ปัญญาและเทคโนโลยีแก้ปัญหา...สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ และมีตลาดรับซื้อ ถึงเวลาที่เราต้องใช้ความรู้ที่สะสมมา นำความรู้มาแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์และเกิดรายได้จากสิ่งประดิษฐ์ .." ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย กล่าวให้ข้อแนะนำการดำเนินงานในยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษมฯ ยังได้ฝากถึงการดำเนินงานเพิ่มเติมว่า ควรเชิญให้หน่วยท้องถิ่นในพื้นที่อื่นๆ ได้มาเยี่ยมชมศึกษางานที่ตาลเดี่ยว เพื่อให้เข้าใจถึงวิธีการบริหารจัดการขยะชุมชน ในบริบทการเปลี่ยนความวุ่นวายให้เป็นความน่าชื่นชมที่เป็นรูปธรรม
อนึ่ง วว. จังหวัดสระบุรี เทศบาลเมืองสระบุรี สถาบันการศึกษา ชุมชน กลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้บูรณาการขับเคลื่อนให้เกิดการจัดการวัสดุเหลือทิ้งในพื้นที่การเกษตรและชุมชนเมือง ภายใต้แผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเมืองสระบุรีคาร์บอนต่ำ (Saraburi Sandbox) ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเรียนรู้ เชื่อมโยงสู่การใช้ประโยชน์ของวัสดุเหลือทิ้ง เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนในพื้นที่นำร่องจังหวัดสระบุรี เพื่อขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนให้บรรลุผลครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้งในพื้นที่การเกษตรและชุมชนเมือง ก้าวไปสู่การเป็นชุมชนสังคมคาร์บอนต่ำในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
สำหรับ ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนตาลเดี่ยวโมเดล วว. และเครือข่ายพันธมิตรได้บูรณาการจัดตั้งขึ้น ประกอบด้วย 1) ชุดคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมระบบกำจัดกลิ่นขยะและระบบทำความสะอาดถุงพลาสติก 2) ชุดคัดแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision พร้อมระบบผลิตเกล็ดพลาสติกคุณภาพสูง และ 3) นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและการนำผลพลอยได้มาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกับการผลิตสารปรับปรุงดินและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน นอกจากนั้นยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ฯ ซึ่งชุมชนได้เรียนรู้การบริหารจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถลดปริมาณขยะได้มากถึง 14,600 ตันต่อปี และชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้สภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชนดีขึ้น
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย