นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้ดักจับฝุ่น PM2.5 การใช้ต้นไม้เป็นเครื่องฟอกอากาศธรรมชาติ และช่วยดูดซับน้ำตามธรรมชาติ โดยเกณฑ์การประเมินจะแบ่งเป็น 4 หมวดหลัก และมีหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้ (1) เกณฑ์มาตรฐาน ประกอบด้วย การเข้าถึงพื้นที่ซึ่งต้องรองรับการเข้าถึงของประชาชนภายในระยะเวลาการเดินไม่เกิน 15 นาที มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน อาทิ ป้ายทางเข้า ป้ายแสดงข้อมูล ถังขยะ ที่นั่ง ฯลฯ กิจกรรมการใช้งานของทุกเพศทุกวัย การออกแบบควรสอดคล้องกับความต้องการใช้งานของคนในชุมชนสอดคล้องกับบริบททางธรรมชาติและวัฒนธรรม รวมถึงความปลอดภัย เช่น กล้องวงจรปิด (CCTV) ไฟฟ้าส่องสว่างและการรักษาความสะอาด (2) เกณฑ์ด้านการมีส่วนร่วม เช่น มีภาคีร่วมสนับสนุนและการร่วมบริหารจัดการ (3) เกณฑ์ด้านสุขภาวะ มีพื้นที่ หรืออุปกรณ์สนับสนุนการออกกำลังกาย การผ่อนคลายทางจิตใจด้วยองค์ประกอบทางธรรมชาติ และ (4) เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม มีการฟื้นฟูระบบนิเวศให้มีคุณภาพดี มีความหลากหลายทางชีวภาพ การเก็บต้นไม้เดิมในพื้นที่ มีการใช้พลังสะอาดเลือกใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ลดการสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ทั้งนี้ กทม. มีเป้าหมายดำเนินการสร้างสวน 15 นาทีให้ได้ 500 แห่ง ภายในปี 2569 ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยการพัฒนาพื้นที่เดิมควบคู่การเพิ่มพื้นที่ใหม่ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน หากประชาชน หรือเอกชนสนใจ สามารถเสนอพื้นที่มาได้ที่ สสล. หรือติดต่อที่เพจเฟซบุ๊ก สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.
ที่มา: กรุงเทพมหานคร