แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย มอบหมายให้ แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย ลงพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ร่วมกับพื้นที่โดยสนับสนุนการทำงานของพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวนกว่า 3,000 ชิ้น เช่น ชุด V-Clean ชุด Sanitation toolkit ชุด DOH Testkit ส้วมกระดาษ ส้วมถัง ถุงดำ ถุงแดง ยาสามัญประจำบ้าน อุปกรณ์รื้อ ล้าง หลังน้ำลด และ Em Ball สำหรับการจัดการด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อดูแลสุขภาพ และป้องกันโรค ขอให้ทุกพื้นที่ยึดหลัก 4 S คือ 1) Survey สำรวจพื้นที่ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวโดยรอบ จัดทำผังภาพรวม กำหนดจุดวางระบบสุขาภิบาล 2) System ประเมินความพร้อมระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดสิ่งปฏิกูล ระบบประปา ระบบไฟฟ้า ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ หากไม่เพียงพอสามารถประสานขอรับสนับสนุนจากเครือข่ายในพื้นที่ 3) Sanitation Management กำหนดพื้นที่ ที่พักไม่แออัด จัดแบ่งโซนสำหรับกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง และกำหนดพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น พื้นที่ให้นมบุตร พื้นที่คัดกรองสุขภาพ พื้นที่ดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น จัดให้มีห้องน้ำห้องส้วมพร้อมอุปกรณ์อย่างเพียงพอ หากไม่เพียงพอให้รีบขอรับการสนับสนุนส้วมเคลื่อนที่และมีการจัดระบบสูบสิ่งปฏิกูลไปกำจัดให้ถูกต้อง จัดระบบระบายอากาศที่ดีใช้วิธีการระบายอากาศตามธรรมชาติหรือเครื่องปรับอากาศขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างอาคาร การจัดการขยะ ประสานหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นให้จัดเตรียมถังขยะแบบแยกประเภทให้เพียงพอ พร้อมทำการเก็บ ขนย้ายนำไปกำจัดให้ถูกวิธีทุกวัน เพื่อป้องกันสัตว์และแมลงนำโรคมาคุ้ยเขี่ยเกิดโรคระบาด 4) Surveillance ตรวจติดตาม เฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหาร ควบคุมคุณภาพน้ำใช้ได้มาตรฐาน หากพบว่าน้ำมีการปนเปื้อน ระดับคลอรีนในน้ำไม่เป็นไปตามมาตรฐาน พื้นที่ประกอบปรุง อุปกรณ์ทำอาหารไม่สะอาด ให้ทำการปรับปรุง แก้ไขปัญหาทันที ด้วยการเติมคลอรีนในน้ำ การล้างทำความสะอาดจาน ชาม และดูแลสุขอนามัยผู้สัมผัสอาหารทันที
ด้านนายแพทย์ชาญชัย พจมานวิพุธ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ทีม SEhRT สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่ช่วยเหลือและสนับสนุนด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราวมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ทั้งนี้ ผศ.ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ผู้อำนวยการศูนย์พักพิงชั่วคราว ได้ให้ข้อมูลการเปิดศูนย์พักพิงเพื่อช่วยเหลือประชาชนของมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย สามารถรองรับผู้พักพิงได้ 800-900 คน นอกจากนี้ กรมอนามัยยังสำรวจพบว่า มีศูนย์พักพิงชั่วคราวโรงเรียนเทศบาล 8 ซึ่งสามารถรองรับผู้พักพิงได้อีกประมาณ 600 คน โดยทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ดำเนินการประเมิน สำรวจ และจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม พร้อมให้คำแนะนำ เรื่อง การจัดการสุขาภิบาลอาหารและน้ำบริโภค ส้วมและสิ่งปฏิกูล ตลอดจนการจัดการขยะภายในศูนย์อพยพเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันและโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ ให้กับศูนย์พักพิง เพื่อดูแลสุขภาพและช่วยเหลือประชาชน
ที่มา: ซี.เอ.อินโฟมีเดีย