วันนี้ (16 กันยายน 2567) แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้มีพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบ จากการประชุมติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำท่วมของกรมอนามัย ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กรมอนามัย และทีม SehRT ทั้งส่วนกลาง และศูนย์อนามัยในพื้นที่ ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ รวมทั้ง ติดตามสถานการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือในพื้นที่ต่างๆ ที่มวลน้ำกำลังจะเดินทางไปถึง ขณะนี้ กรมอนามัยจำแนกสถานการณ์จากผลกระทบที่ประชาชนได้รับ ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) พื้นที่น้ำลด เร่งระดมวัสดุอุปกรณ์ เพื่อเข้าช่วยเหลือรื้อ ล้าง และจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน 2) พื้นที่ที่น้ำท่วมขัง เร่งดูแลศูนย์อพยพ และมีข้อแนะนำการปฏิบัติตนและดูแลตนเอง หากยังอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง 3) พื้นที่ที่อาจเสี่ยงน้ำท่วมเพราะรับมวลน้ำ เร่งสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนให้พร้อมรับมือ และประสานหน่วยงานในพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ "ช่วงน้ำท่วมทีม SEhRT กรมอนามัย ต้องเร่งปฏิบัติการ 6 ด้าน ดังนี้ 1) เฝ้าระวัง คาดการณ์สถานการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพื่อแจ้งเตือนและให้การสนับสนุนด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้ก่อนเกิดเหตุ 2) พื้นที่ประสบภัยลงปฏิบัติการในศูนย์อพยพทั้งด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ โดยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำการตรวจประเมินการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ และจัดการสุขาภิบาล เช่น ส้วมและสิ่งปฏิกูล ขยะ และพื้นที่พักอาศัย ส่วนด้านส่งเสริมสุขภาพส่งเสริมโปรแกรมพัฒนาการเด็กเล็ก และดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์และทารก 3) พื้นที่น้ำลด สนับสนุนการฟื้นฟูหลังน้ำลดให้สนับสนุนทีมจังหวัดและท้องถิ่นในการฟื้นฟูระบบสุขาภิบาลในพื้นที่สาธารณะ เช่น การล้างตลาด การจัดการระบบประปาหมู่บ้าน ประปาชุมชน ศูนย์เด็กเล็ก 4) พัฒนาระบบรายงานการปฏิบัติงานของทีม SEhRT ภาพรวมกรมอนามัย ทั้งข้อมูลการจัดการสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อมในศูนย์อพยพ ข้อมูลกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง เช่น หญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก ข้อมูลวัสดุ อุปกรณ์ ชุดทดสอบที่ส่งไปสนับสนุนพื้นที่ เพื่อรายงานในภาพกระทรวงฯ 5) จัดชุดสนับสนุนพื้นที่น้ำท่วมและเสี่ยงน้ำกำลังจะท่วม ได้แก่ ชุด V-Clean ชุด SAN-Kit ชุดเครื่องมือ DOH Testkit และส้วมฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยช่วงประสบภัยและเตรียมการก่อนเกิดเหตุให้เพียงพอ 6) ทีมสื่อสารของทุกศูนย์อนามัยเร่งสร้างความรอบรู้แก่ประชาชน และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยให้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ พร้อมเผยแพร่ทุกแพลตฟอร์มให้ทราบข้อมูลของกรมอนามัย เช่นการทำและใช้ส้วมกระดาษ สอนวิธีใช้งานชุด V-Clean ชุดทดสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำชุดทดสอบคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำ การล้างทำความสะอาดบ้าน และการใช้ EM Ball EM น้ำ ทั้งนี้ขอให้ทุกหน่วยของกรมอนามัยร่วมสนับสนุนการทุกงานในระดับพื้นที่อย่างเต็มกำลังตามภารกิจ พร้อมบูรณาการกับหน่วยอื่น ๆ ในภาพของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อความเป็นเอกภาพต่อไป" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา: กรมอนามัย