ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเสริมสร้างขีดความสามารถของเด็กและเยาวชน และส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในพันธกิจของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ตามกรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อที่ 6 Action for Climate and Empowerment และข้อตกลงปารีสข้อ 12 ในการสร้างความตระหนักรู้ พัฒนาเป็นทักษะ นำไปสู่การปฏิบัติจริง ที่ต้องดำเนินการอย่างแข็งขันและต่อเนื่อง โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือ กรมลดโลกร้อน ได้มีการยกระดับเครือข่ายเด็กและเยาวชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือ CCE Children & Youth ขึ้น เพื่อสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม และเสริมศักยภาพเด็กและเยาวชน จนสามารถเป็นกระบอกเสียงนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินงานให้สอดรับกับแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามสถานการณ์ แผนและนโยบายระดับประเทศและระดับนานาชาติ
ดร.พิรุณ กล่าวต่อว่า โครงการในวันนี้ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) และ สมาคม The Youth Fund ซึ่งเป็นพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ที่เห็นความสำคัญและพร้อมที่ส่งเสริม สนับสนุนการขับเคลื่อนงานในภาคเด็กและเยาวชน โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงแนวคิดในการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงการสนับสนุนผลงานนวัตกรรมที่สามารถพัฒนานำไปใช้ ต่อยอดเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้จริงต่อไปในอนาคต ซึ่งจากผลงานของเยาวชนที่ได้รับรางวัลจากโครงการนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงพลังของเยาวชน และความตื่นตัวในการร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรม เตรียมพร้อมที่จะรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับ วันนี้เป็นวันโอโซนโลก จึงถือเป็นโอกาสนี้ที่ร่วมกันสร้างความตระหนักให้แก่สังคม ได้เห็นความสำคัญในการปกป้องชั้นโอโซนของโลก และส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยลดภาวะก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤติโลกเดือดที่เรากำลังเผชิญไปพร้อมกัน
สำหรับผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้รวม 6 ผลงาน ประกอบด้วย ประเภทเดี่ยว จำนวน 3 รางวัล และประเภททีม 3 รางวัล โดย ผลงานที่ได้รางวัลชนะเลิศ ประเภทเดี่ยว ได้แก่ ผลงาน "เพรียวเนส - Pureness" ของ นายพร้อมพงค์ จู่ห้อง โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) เป็นนวัตกรรมการนำเครื่องออกกำลังกายที่ใช้ระบบ Piezoelectric ซึ่งแปลงแรงกดหรือการสั่นสะเทือนเป็นพลังงานไฟฟ้า เชื่อมกับแอพพลิเคชั่น Pureness ที่สามารถคำนวณพลังงานไฟฟ้าที่สร้างและเทียบโอนเป็นหน่วยคะแนนในการแลกเงิน เพื่อสร้างแรงจูงใจ และผลงานที่ได้รางวัลชนะเลิศ ประเภททีม ได้แก่ ผลงาน "การพัฒนาระบบทำความเย็น โดยใช้โมดูลเพลเทียร์ร่วมกับท่อระบายความร้อน รูปทรงแตรกาเบรียลที่มีความยาวจำกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำความเย็น" ของ โรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัย เป็นนวัตกรรมผลิตแผ่นสร้างความเย็น โดยใช้โมดูลเพลเทียร์ร่วมกับท่อระบายความร้อน ที่สามารถลดอุณหภูมิจากภายนอกอาคารเป็นอุณหภูมิต่ำเข้าสู่ภายในอาคารได้มากถึง 9 องศาเซลเซียส เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานไฟฟ้า
นอกจากนี้ยังมี รางวัลรองชนะเลิศ ประเภทเดี่ยว ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ผลงาน "Design and Implementation of an Off-Grid Photovoltaic System for Sustainable Energy Independence" ของนายเชน จันทรวรัญญู โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ผลงาน "ระบบสะสมแต้มที่ซื้อสินค้าที่ติดฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นท์" ของ นายภูมิสมิทธ์ อัศวเลิศสมจิต โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี และ รางวัลรองชนะเลิศ ประเภททีม ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ผลงาน "เครื่องควบคุมปัจจัยในดินที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นทุเรียน" จาก โรงเรียนระยองวิทยาคม และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ผลงาน "CarbonCycle" จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน และโรงเรียนสาธิตนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ ภายในงานมีการการแสดงนิทรรศการผลงานนวัตกรรม เพื่อลดภาวะโลกร้อน กิจกรรมแจกกล้าไม้ จากกรมป่าไม้ เนื่องในวันโอโซนโลก กิจกรรมนิทรรศการให้ความรู้ เล่นเกม ตอบคำถาม เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน จากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมจำหน่ายจองเสื้อของสมาคม The Youth Fund โดยรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย มอบให้ผู้พิทักษ์ป่าต่อไป
ที่มา: กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม