เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีเปิดการนำเสนอผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา กล่าวรายงานโดย ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ กล่าวให้โอวาทและให้คำแนะนำแก่นักศึกษา โดย นายเขมินท์ เมธีอภิรักษ์ ผู้อำนวยการเขตสงขลา 1 ธนาคารออมสิน นอกจากนั้น ยังมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้รับการยกระดับการพัฒนา และมีการมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักศึกษา อาจารย์ รวมทั้งมีการคัดเลือกกลุ่มยอดเยี่ยม (The Best) เพื่อไปแข่งขันต่อในระดับประเทศ
สำหรับการนำเสนอผลสัมฤทธิ์โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นในครั้งนี้ มีทีมนักศึกษา มรภ.สงขลา จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ และ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ร่วมนำเสนอผลสัมฤทธิ์จำนวน 5 ทีม ได้แก่ 1. วิสาหกิจชุมชนบ้านสวนร้อยพันธุ์สุวรรณมณี ผลิตภัณฑ์ชาหมักคอมบูชาผสมน้ำมัลเบอร์รี่เสริมพรีไบโอติก ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา 2. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้ากระแสสินธุ์ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ ต.กระแสสินธุ์ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา 3. วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบาโหย ต.บาโหย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา 4. วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านโหนด-บ้านเปียน ผลิตภัณฑ์เซรั่มสารสกัดดอกกาแฟ ต.บ้านโหนด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา และ 5. วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโรงสีข้าวชุมชนบ้านหนองโอน ผลิตภัณฑ์ถ่านอัดแท่งไร้ควัน ต.ควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
ผลปรากฏว่า ทีมวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านโหนด-บ้านเปียน ผลิตภัณฑ์เซรั่มสารสกัดดอกกาแฟ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมเป็นตัวแทนของ มรภ.สงขลา ไปแข่งขันต่อในระดับประเทศ ทีมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้ากระแสสินธุ์ รองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินรางวัล 5,000 บาท ทีมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มโรงสีข้าวชุมชนบ้านหนองโอน รองชนะเลิศอันดับ 2 รับเงินรางวัล 3,500 บาท ทีมวิสาหกิจชุมชนบ้านสวนร้อยพันธุ์สุวรรณมณี และ ทีมวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบาโหย ได้รับรางวัลชมเชย รับเงินรางวัลทีมละ 2,000 บาท
ทั้งนี้ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา ได้ร่วมกับธนาคารออมสินดำเนินโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ บริการ ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การจัดทำบัญชีต้นทุนสินค้า การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ให้สามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน สร้างงานสร้างอาชีพให้แก่กลุ่มชุมชน ทั้งยังเป็นการสนับสนุนและเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับนักศึกษาได้เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม และการทำงานต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จะเป็นแนวทางในการก่อเกิดประสบการณ์ด้านพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาเมื่อออกสู่ตลาดแรงงาน นำไปสู่การสร้างความมั่นคงของรากฐานสังคมจากพื้นฐานความเข้าใจของคนรุ่นใหม่ต่อไป
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.skru.ac.th/view_photo/photo1.php?album=2024091701
ที่มา: มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา