ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาวิทยากรศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. (สวนลุมพินี) ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากวิทยากรฝึกอาชีพ เป็นบุคคลที่ช่วยปฏิบัติงานด้านส่งเสริมอาชีพ โดยมีระยะเวลาจ้างปีต่อปีตามโครงการ ไม่ได้เป็นลูกจ้าง กทม. จึงไม่สามารถใช้ระเบียบการชดเชยเยียวยาได้ อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้พยายามให้ความช่วยเหลือโดยประสานสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) ให้วิทยากรไปสอนที่โรงเรียนฝึกอาชีพแห่งอื่นและโครงการสัญจร แต่เนื่องจากงบประมาณที่จำกัดและความเหมาะสมของวิชาในการฝึกอาชีพสัญจร จึงมีเพียงบางคนที่ได้เข้าโครงการ และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สพส. ได้เปิดรับสมัครวิทยากร เพื่อฝึกอาชีพตามแผนการฝึกอาชีพ และสำนักงานเขตฯ จะเปิดสอนวิชาชีพประจำปี พ.ศ. 2568 สถานที่ฝึกอาชีพสัญจร ตามกรอบงบประมาณ 2,760,000 บาท โดยเริ่มรับสมัครประชาชนที่สนใจฝึกอาชีพตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวว่า สพส. มีแนวทางบริหารจัดการในระหว่างที่รอการปรับปรุงพื้นที่ศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. (สวนลุมพินี) แล้วเสร็จ โดยกำหนดจัดฝึกอาชีพสัญจรในชุมชน หน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชน ที่ประสงค์ขอฝึกอาชีพ และจะดำเนินการขอใช้พื้นที่ฝึกอาชีพชั่วคราวที่ลานกีฬาคลองพูน ใต้ทางด่วนพระราม 6 ขณะเดียวกันได้ช่วยเหลือวิทยากรศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. (สวนลุมพินี) โดยจัดวิทยากรไปสอนที่โรงเรียนฝึกอาชีพแห่งอื่นและจัดโครงการฝึกอาชีพสัญจร นอกจากนั้น ยังได้สำรวจความต้องการสอนของวิทยากรสังกัดศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. (สวนลุมพินี) ที่ได้รับการแต่งตั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 54 ราย (เสียชีวิต 1 ราย) ซึ่งสอนในวิชาตามที่หน่วยงานต่าง ๆ ร้องขอ ทั้งนี้ มีวิทยากรในสังกัดศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. (สวนลุมพินี) สำนักงานเขตปทุมวันมาปฏิบัติงานกับ สพส. ทั้งแบบสัญจรและประจำที่โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร จำนวน 16 ราย และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีวิทยากรของศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. (สวนลุมพินี) ที่สมัครและได้รับการแต่งตั้งเป็นวิทยากรส่งเสริมอาชีพ 29 ราย โดยเป็นวิทยากรสัญจร 28 ราย และวิทยากรของโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร 1 ราย ซึ่งวิทยากรบางรายมีงานประจำ หรือเป็นข้าราชการสังกัดอื่น ๆ รวมทั้งบางรายได้รับคัดเลือกเป็นวิทยากรส่งเสริมอาชีพในสังกัดของศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครแห่งอื่นด้วย
ที่มา: กรุงเทพมหานคร