"ลงทุนอย่างรู้เท่าทัน : อยากเลือกลงทุนกองทุนรวมสัก 1 กอง แบบไหนเหมาะกับเรา ?"

ศุกร์ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๗ ๐๘:๕๗
หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักการลงทุนในกองทุนรวมกันมาแล้ว 3 ตอน ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการสังเกตเมื่อถูกชักชวนลงทุนในกองทุนรวมเพื่อไม่ให้ถูกหลอก จุดเด่นของกองทุนรวมที่เข้าถึงง่ายด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 1 บาท รวมทั้งเจาะลึกกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ ที่ทำให้เราแยกแยะความแตกต่างได้
ลงทุนอย่างรู้เท่าทัน : อยากเลือกลงทุนกองทุนรวมสัก 1 กอง แบบไหนเหมาะกับเรา ?

บทความตอนที่ 4 นี้ ก็มาถึงเรื่องราวที่หลายคนอยากรู้ เพราะเริ่มสนใจลงทุนในกองทุนรวม แต่เลือกไม่ถูกว่าจะลง (ทุน) กองไหนดี ประมาณว่า เดินเข้ามาถึงประตูสู่การลงทุน แต่ยังยืนงงในดงกองทุนรวมนับพันกองอยู่

คีย์เวิร์ดของคำตอบนี้ คือ "รู้จักตัวเอง" ที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถค้นหากองทุนที่ใช่ เพราะคนแต่ละคนล้วนมีมุมมอง แนวคิด การใช้ชีวิต ความจำเป็น และความสนใจ ที่แตกต่างกัน ฉะนั้น การตัดสินใจเลือกลงทุนในกองทุนรวม จึงต้องรู้จักตัวเองใน 2 เรื่อง คือ เป้าหมายการเงินคืออะไร และยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน

ตั้งเป้าหมายการเงินให้ปังด้วยหลัก SMART

เป้าหมายการเงิน ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะการเลือกกองทุนรวมเท่านั้น แต่เป็นส่วนสำคัญของการวางแผนการเงินในชีวิตเลยทีเดียว เพราะการมีเป้าหมายการเงินที่ชัดเจน จะเพิ่มโอกาสช่วยให้เราวางแผนการเงินได้สำเร็จมากขึ้น ซึ่งเราจะเห็นภาพว่า เราต้องการเงินเพื่ออะไร จำนวนเท่าใด เป้าหมายระยะสั้น กลาง หรือยาว โดยแต่ละเป้าหมายจะรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ซึ่งเราเริ่มต้นตั้งเป้าหมายการเงินที่ดีได้ด้วยหลัก SMART ที่ประกอบด้วย

  • S : Specific ชัดเจน โดยเป้าหมายควรจะระบุได้ชัดเจนและเข้าใจได้
  • M : Measurable วัดผลได้ ด้วยการกำหนดเป็นจำนวนเงินที่ชัดเจน
  • A : Achievable รู้วิธีที่ทำให้เป้าหมายสำเร็จได้
  • R : Realistic อยู่บนความเป็นจริง สมเหตุสมผล
  • T : Time - bound มีกรอบเวลาชัดเจน ว่าเป้าหมายนั้นกำหนดระยะเวลาเมื่อใด

ตัวอย่างการตั้งเป้าหมาย SMART เช่น

  • (S) ฉันจะออมเพื่อเกษียณ
  • (M) เป็นเงิน 10 ล้านบาท
  • (A) ฝากธนาคาร ดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี = 22,013 บาท/เดือน หรือลงทุนกองทุนรวมผสมผลตอบแทนเฉลี่ย 5% = 12,016 บาท/เดือน หรือลงทุนกองทุนรวมตราสารทุน ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% = 6,710 บาท/เดือน
  • (R) แบ่งเงินออมมาจากเงินเดือนและอาชีพเสริม
  • (T) ภายในเวลา 30 ปี หรือ 360 เดือน

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ในส่วนของ (A) หรือวิธีการที่จะทำให้เป้าหมายสำเร็จ มีได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับการยอมรับความเสี่ยง ซึ่งหากรับความเสี่ยงได้สูง ด้วยระยะเวลายาวถึง 30 ปี อาจนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนหรือกองทุนรวมหุ้น ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี จะลดการออมต่อเดือนเหลือ 6,710 บาท หรือ 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับการฝากธนาคาร ดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี และถ้าออมมากขึ้นก็มีโอกาสถึงเป้าหมายเร็วขึ้นอีกด้วย

รู้การยอมรับความเสี่ยงตัวเองนั้นสำคัญยิ่งยวด

นอกจากการกำหนดเป้าหมายการเงินที่ชัดเจนตามหลัก SMART จะช่วยเราเลือกกองทุนที่เหมาะกับเราได้ ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญและต้องนำมาดูประกอบด้วยเสมอ คือ การยอมรับความเสี่ยงของแต่ละคน เพราะแต่ละคนยอมรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน แม้จะอายุเท่ากันหรือมาจากครอบครัวเดียวกันก็ตาม หากคนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อราคาสินทรัพย์ลดลง อาจรับการสูญเสียเงินไม่ไหวและเกิดการวิตกกังวล ต่างจากคนที่รับความเสี่ยงได้สูงที่สามารถรับไหวเมื่อราคาสินทรัพย์ลดลง เพราะเป็นความเสี่ยงที่ตัวเองพึงพอใจและรับได้

ดังนั้น ก่อนเริ่มลงทุนต้องเช็กก่อนว่า เรายอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหนจาก การทำแบบประเมินความเสี่ยง (suitability test) เพื่อช่วยให้เราสามารถเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมกับเราได้ ซึ่งการประเมินความเสี่ยง จะพิจารณาจากการยอมรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน (Risk Profile) ใน 2 มิติ ได้แก่

  • ความสามารถในการรับความเสี่ยง (Ability to take risk) ประเมินจากปัจจัยที่สะท้อนความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง เช่น อายุ ระยะเวลาลงทุน ภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สิน ประสบการณ์ลงทุน เป็นต้น
  • ความเต็มใจในการรับความเสี่ยง (Willingness to take risk) ประเมินจากปัจจัยที่สะท้อนความเต็มใจในการรับความเสี่ยง ได้แก่ ทัศนคติเกี่ยวกับการรับความเสี่ยง เช่น สามารถรับผลขาดทุนได้มากน้อยเท่าไหร่ รวมถึงความอดทนต่อความผันผวนหรือการขาดทุน เป็นต้น

การพิจารณาการยอมรับความเสี่ยงจะต้องดูจากหลายปัจจัยร่วมกัน จึงจะออกมาเป็นผลของการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล ที่แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ เสี่ยงต่ำ เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง เสี่ยงสูง และเสี่ยงสูงมาก

ระดับการยอมรับความเสี่ยงนี้จะช่วยบอกเราว่า เราสามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (เช่น หุ้น หรือทรัพย์สินทางเลือกอย่างทองคำ หรือน้ำมัน) ได้สัดส่วนประมาณเท่าใด เช่น ผู้รับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรมีสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงในพอร์ตประมาณ 10% ขณะที่ผู้ที่รับความเสี่ยงได้เสี่ยงสูงมาก อาจมีสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงในพอร์ตได้สูงถึง 80% โดยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็มาจากความคาดหวังที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นนั่นเอง

ข้อควรรู้ คือ ระดับการยอมรับความเสี่ยงของคนเรานั้น "เปลี่ยนแปลงได้" ดังนั้น ควรทบทวนการรับความเสี่ยงตัวเองอย่างน้อยทุก 1 - 2 ปี ซึ่งจะดีต่อการวางแผนลงทุนและปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย

กองทุนรวมแบบไหน "ใช่" สำหรับเรา

เพราะผลิตภัณฑ์การลงทุนแต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะ ความเสี่ยง และผลตอบแทนแตกต่างกัน กองทุนรวมมีการจัดระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม ตั้งแต่เสี่ยงต่ำระดับ 1 ไปจนถึงเสี่ยงสูงระดับ 8 กองทุนรวมซึ่งกระจายลงทุนในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็มีโอกาสและความเสี่ยงที่หลากหลายตามนโยบายการลงทุน ตอบโจทย์ผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน เช่น ถ้าผู้ลงทุนมีเป้าหมายการเงินระยะยาว และรับความเสี่ยงได้สูง ก็อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมหุ้นหรือกองทุนรวมตราสารทุนดังที่กล่าวไปแล้ว แต่หากเป็นคนที่รับความเสี่ยงจากหุ้นได้น้อย ก็อาจลดความเสี่ยงลงด้วยการเลือกกองทุนรวมผสม ซึ่งจะมีความผันผวนน้อยกว่ากองทุนรวมหุ้น เพราะมีการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาฯ จึงช่วยกระจายหรือลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียวได้

ในทางกลับกันถ้าผู้ลงทุน มีเป้าหมายระยะสั้น ยอมรับความเสี่ยงได้ต่ำ การเลือกลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินหรือกองทุนรวมพันธบัตรก็จะเหมาะสมกว่า

แต่ถ้าใครยังไม่มีเป้าหมายการเงินเพื่อลงทุนในกองทุนรวม ลองตั้งเป้าหมาย "ออมเพื่อเกษียณ" ดูไหม?? อย่าเพิ่งคิดว่า อายุยังน้อย เป้าหมายเกษียณช่างไกลตัวเกินไป ไม่จริงเลย เพราะการออมเพื่อเกษียณยิ่งเริ่มเร็วยิ่งได้เปรียบ เพราะหากออม/ลงทุนสม่ำเสมอ จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ย/ผลตอบแทนทบต้น มีเวลาให้เงินทำงาน และด้วยความที่อายุยังน้อย จึงรับความผันผวนของการลงทุนระหว่างทางได้

ปัจจุบันมี 2 ประเภทกองทุนที่โดดเด่นในด้านการลงทุนระยะยาว และได้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่มีนโยบายหลากหลายให้เลือก ทั้งการลงทุนในประเทศ ต่างประเทศ ในหุ้น หรือตราสารหนี้ หรือจัดพอร์ตเป็นธีม ก็มีให้เลือกเช่นกัน

หรือถ้าใครต้องการออมต่อเนื่องระยะยาว ได้ลดหย่อนภาษี และสนับสนุนธุรกิจรักษ์โลกไปด้วย ก็ลองพิจารณา กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ที่เป็นกองทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยล่าสุดกองทุน Thai ESG ได้ปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ โดยขยายวงเงินลดหย่อนภาษีเป็น 3 แสนบาทต่อคนต่อปี ลดระยะเวลาการถือครองหน่วยลงทุน เหลือ 5 ปี สำหรับการลงทุนระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 - 31 ธันวาคม 2569

อย่างไรก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องลงทุนในกองทุนรวมเพียงกองเดียวเท่านั้น หากเรามีรายได้เพิ่มขึ้น มีเป้าหมายมากกว่า 1 เป้าหมาย ก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมอื่นเพิ่มเติม เช่น เป้าหมายระยะสั้น และเป้าหมายนั้นมีความสำคัญสูง เช่น เก็บเงินเรียนต่อปริญญาโท ในอีก 2 ปี ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนพันธบัตรที่เน้นปลอดภัยไม่ผันผวน เป็นต้น

แต่ที่สำคัญกว่า.. ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลของแต่ละกองทุนรวมอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่งสามารถศึกษาได้จากหนังสือชี้ชวนกองทุนรวม หรือ Fund Fact Sheet เพื่อหากองทุนรวมที่เหมาะสมและตอบโจทย์เรามากที่สุด แล้วใน fund fact sheet มีข้อมูลอะไรบ้าง ตอนหน้าจะพาไปเจาะลึกลายแทงขุมทรัพย์ข้อมูลกองทุนรวมกัน

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ