ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการจีดีพีปี 2567 ที่ 2.6% คาดครึ่งปีหลังเติบโตดีขึ้น แนะจับตาผลกระทบจากน้ำท่วม เศรษฐกิจชะลอ และผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ

ศุกร์ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๗ ๑๖:๒๘
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการจีดีพีปี 2567 ไว้ที่ 2.6% โดยครึ่งปีหลัง 2567 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก จับตาผลกระทบเฉพาะหน้าจากปัญหาน้ำท่วม และเศรษฐกิจหลักชะลอตัว ขณะที่ การเลือกตั้งสหรัฐฯ จะมีผลกำหนดทิศทางสงครามการค้าระลอกใหม่ ซึ่งไทยอาจไม่ได้อานิสงส์มากนัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงประมาณการจีดีพีปี 2567 ที่ 2.6% คาดครึ่งปีหลังเติบโตดีขึ้น แนะจับตาผลกระทบจากน้ำท่วม เศรษฐกิจชะลอ และผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ทางเฟดได้ลดดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมที่ผ่านมา มากกว่าที่คาดไว้ และได้ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยอีก 2% ภายในปี 2569 เป็นการเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ส่วนทางเศรษฐกิจจีน มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ 5% ในปี 2567 จากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่สิ้นสุด และรัฐบาลจีนยังไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอย่างชัดเจน รวมถึงยังเผชิญการกีดกันทางการค้าจีนจากทางตะวันตก สำหรับยุโรป เศรษฐกิจเยอรมนียังส่งสัญญาณความเปราะบาง รวมถึงผลกระทบจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังสร้างความไม่แน่นอนให้กับภาคธุรกิจในยุโรปเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีประเด็นที่ต้องจับตาคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพราะจะส่งผลต่อนโยบายการค้าการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ขยายความในประเด็นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกว่าได้สร้างความไม่แน่นอนให้เศรษฐกิจไทย ซึ่งมองว่าเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง โอกาสในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลาง ในขณะที่ความเสี่ยงเกิดจากผลกระทบที่เกิดจากมาตรการกีดกันการค้าโลก และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเกิด Trade War 2.0 ที่สหรัฐอเมริกาอาจมีการกำหนดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 60% และการนำเข้าจากที่อื่นๆ เป็น 10-20% น่าจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอีกระลอก โดยเฉพาะสินค้าจีนที่ยังไม่โดนเก็บภาษีจาก Trade War 1.0 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้แรงงานสูง (Labor-Intensive) และไทยอาจได้ผลบวกไม่มาก

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ประเด็น ภูมิรัฐศาสตร์โลกจะเพิ่มแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการผลิต เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย อาจเสี่ยงเผชิญการผลิตที่ล้นเกิน เพราะยากจะหวังพึ่งการส่งออกและตลาดในประเทศคงไม่โตได้มากเท่าที่คาด

ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เพิ่มเติมว่า ในระหว่างที่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกยังยืดเยื้อ รวมถึงปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในโลกที่ยังคงอยู่ ควบคู่กับทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกในขาลง คาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe-Haven Assets) อย่างทองคำ ยังได้รับแรงหนุน ซึ่งที่ผ่านมาทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรตระหนักว่า ความผันผวนของสินทรัพย์ต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากช่วงโควิด ดังนั้น จึงยังต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน และกระจายความเสี่ยงให้ดีด้วย

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่ 2.6% จากแรงหนุนการฟื้นตัวส่งออก ท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2567 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรก จากปัจจัยฐานของการส่งออกและการลงทุน และการท่องเที่ยวช่วงฤดูกาล (High Season) รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากน้ำท่วม แนวโน้มเศรษฐกิจหลักของโลกที่ชะลอตัว รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลงยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

ด้านอุตสาหกรรมไทย มองว่าจะยังอยู่ท่ามกลางปัญหา จาก 4 เรื่องหลักในช่วงที่เหลือของปี ได้แก่ 1.น้ำท่วม โดยผลกระทบจะมากขึ้นอีกถ้าสถานการณ์เกิดรุนแรงในภาคกลางและภาคใต้ 2.บาทผันผวนสูง 3.การแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศ 4.ต้นทุนเพิ่มโดยเฉพาะจากค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งทั้ง 4 เรื่อง กระทบเกษตร การผลิต และบริการ หลักๆ คือ SMEs สำหรับภาพทั้งปี 2567 ประเมินว่า รถยนต์ ที่อยู่อาศัย และก่อสร้าง เป็นกลุ่มธุรกิจที่ลำบากจากเครื่องชี้ด้านรายได้ที่หดตัว

ส่วนภาคการเงินนั้น โจทย์หลักยังคงเป็นเรื่องหนี้สินภาคครัวเรือน ที่จะยังเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ใกล้ระดับ 90% ในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ทำให้โอกาสการเติบโตสินเชื่อใหม่อยู่ในกรอบที่จำกัดกว่าเดิมมาก โดยสินเชื่อของระบบแบงก์ไทยปีนี้คงโตไม่เกิน 1.5% ท่ามกลางความสามารถในการกู้ยืมของลูกหนี้ที่ลดลง โดยผลสำรวจหนี้สินครัวเรือนประจำไตรมาส 3/2567 พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีสินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถเคยประสบปัญหาการชำระหนี้ ทำให้ต้องเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน ซึ่งปัญหาจะเชื่อมโยงกับการมีรายได้ในระดับไม่สูง มีเงินออมน้อย จึงทำให้อ่อนไหวมากกว่าลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ ขณะที่ ผลสำรวจครั้งนี้ พบผู้ที่พึ่งพาหนี้นอกระบบ 8.2% ซึ่งต้องการความช่วยเหลือในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ วางแผนทางการเงิน และเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ในระบบ นอกเหนือจากการแก้ที่ยั่งยืน
ด้วยการเพิ่มเสถียรภาพด้านรายได้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย

ที่มา: ธนาคารกสิกรไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ