รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้มอบทุนให้ มจธ. อย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13 ซึ่งในปีนี้ มจธ. ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิฯ จำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) และมหาวิทยาลัยร่วมสมทบทุนวิจัยอีก จำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (USD) หรือประมาณ 3,400,000 บาท โดยให้การสนับสนุน 6 โครงการ ใน 4 สาขาการวิจัย ได้แก่ สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences) สาขาชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences) สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment Sciences) และสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์และวิศวกรรมผังเมือง (Architecture and Urban Engineering)
สำหรับ 6 นักวิจัย มจธ.ที่ได้รับทุนวิจัยอาซาฮีประจำปี 2567 ประกอบด้วย 1. สาขาวัสดุศาสตร์ (Materials Sciences) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1) ผศ. ดร.ปาริชาต นฤพนธ์จิรกุล อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในโครงการ "ผลของไอออนบำบัดต่อสมบัติทางกายภาพ เคมี และชีวภาพของโครงเลี้ยงเซลล์จากแก้วชีวภาพด้วยกระบวนการโซล-เจลแบบโฟมสำหรับวิศวกรรมเนื้อเยื่อกระดูก" และ 2) รศ. ดร.สมพิศ วันวงษ์ อาจารย์ประจำสายวิชาเทคโนโลยีวัสดุ คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ ในโครงการ "การพัฒนาฟิล์มคอมโพสิตจากพอลิไดเมทิลไซลอกเซน (PDMS) สำหรับไตรโบอิเล็กทริกนาโนเจเนอเรเตอร์ที่เก็บเกี่ยวพลังงานน้ำ และการผสานเข้ากับโซลาร์เซลล์เพื่อเก็บเกี่ยวพลังงานผสม (หยดน้ำและแสงแดด)"
2. สาขาชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1) ดร.กรกันยา ประทุมยศ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ในโครงการ "แอมฟิฟิลิกไคโตซานที่สามารถจัดเรียงตัวเองได้สำหรับใช้เป็นวัสดุนำส่งยีน" และ 2) ดร.โศภิตา แสงเพชร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในโครงการ "การศึกษาการตอบสนองของเซลล์และโปรตีนทั้งหมดของเซลล์ต้นกำเนิดชนิดมีเซนไคม์เยื่อหุ้มข้อในแผ่นเซลล์กระดูกอ่อนหลายชั้นเพื่อพัฒนาการสร้างเนื้อเยื่อกระดูกอ่อน"
3. สาขาสิ่งแวดล้อม (Environment Sciences) จำนวน 1 โครงการ โดย ดร.วรธา กลิ่นสวาท อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี และศูนย์วิจัย Conservation Ecology ในโครงการ "OtGene : เครือข่ายความร่วมมือด้านพันธุศาสตร์ประชากรเพื่อการอนุรักษ์และปราบปรามการค้านากผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชีย"
และ 4. สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์และวิศวกรรมผังเมือง (Architecture and Urban Engineering) จำนวน 1 โครงการ โดย ผศ. ดร.ชเนนทร์ มั่นคง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ในโครงการ "มุมมองที่แตกต่างในงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม แนวคิดเรื่อง ความสำเร็จในการอนุรักษ์จากมุมมองของชุมชน จากภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย"
นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างมูลนิธิกระจกอาซาฮี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนทุนวิจัยระหว่างปี พ.ศ. 2568 - 2570 ใน 7 สาขาการวิจัย ประกอบด้วย 1. Materials Sciences 2. Life Sciences 3. Information Sciences 4. Environment Sciences 5. Energy 6. Social Sciences และ 7. Architecture and Urban Engineering
ทั้งนี้ มูลนิธิกระจกอาซาฮีเป็นมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์ที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2476 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มูลนิธิได้มอบทุนวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น ประเทศไทย และประเทศอินโดนีเซีย โดยมูลนิธิฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนักวิจัยในการทำงานวิจัย โดยไม่มีเงื่อนไขผูกมัด และยังส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับมูลนิธิอีกด้วย
ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี