นายผยง ระบุว่า การเตรียมความพร้อมของประเทศในอนาคต (Future Readiness) ต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ปัจจัยความท้าทายต่างๆ ในอนาคตว่ามีผลกระทบอย่างไร เพื่อนำมาสู่การวางแผนเตรียมความพร้อมในการมองหาโอกาสและรับมือกับความเสี่ยง ซึ่งประเทศไทยมีความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายนอก คือ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และเทคโนโลยีดีสรัปชัน รวมถึงปัจจัยภายในประเทศที่ใกล้ตัว คือ ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจนอกระบบ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนการสั่งสมความเปราะบางในเชิงโครงสร้าง ซึ่งหากไม่จัดการแก้ไขจะนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม
เมื่อพิจารณาปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพในอนาคต จากมุมมอง World Economic Forum (WEF) ซึ่งประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ นวัตกรรม ความครอบคลุมและทั่วถึง ความยั่งยืน และความยืดหยุ่นและความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลง พบว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้สร้างนวัตกรรม และยังปรับใช้นวัตกรรมได้ไม่เต็มศักยภาพ ขณะที่การที่ไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ถึงราว 50% ต่อจีดีพี สะท้อนการขาดแรงจูงใจให้เข้าระบบและปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึง (K-Shape) มีจำนวนผู้ประกอบการที่ยังติดอยู่ในส่วนของ K ขาล่าง มากกว่า K ขาบนอย่างมาก โดยเฉพาะการที่ยังไม่สามารถยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการรายเล็กให้เติบโตไปกับรายใหญ่ตาม Mega-Trends ของโลก ที่เราไม่สามารถหลีกหนีได้ รวมถึงการขาดความยืดหยุ่นและขาดความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โลกให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนและเรื่อง ESG
ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของประเทศที่พร้อมสำหรับอนาคต คือการมีข้อมูล หรือ Data Foundation ที่จะทำให้การวิเคราะห์และจัดการกับปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในยุค "Real-time Economy" การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนของสังคมรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง รู้เท่าทันอย่างมีสติ และเปิดกว้างให้เกิดการนำข้อมูลไปสร้างนวัตกรรม เกิดเป็น "Data Driven Economy" ที่นอกจากจะทำให้เกิดการเรียนรู้ สร้างทักษะที่สร้างปัญญาให้ประชากรและสังคมให้รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังสามารถสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการจัดสรรทรัพยากรและสร้างแรงจูงใจในจุดที่ถูกต้อง เช่น การผันกิจกรรมเศรษฐกิจนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ การใช้ Negative Income Tax ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่ชัดเจน และการแปลความหมายของข้อมูลได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ
"หากเปรียบความท้าทายไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือเทคโนโลยีดิสรัปชัน เป็นคลื่นใหญ่ในมหาสมุทร และประเทศไทยกำลังโต้คลื่นที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง และหลีกเลี่ยงไม่ได้ อยากให้มองว่าเรามีโอกาสที่จะอาศัยแรงของคลื่นในการก้าวข้ามข้อจำกัดในอดีต (leap frog) โดยมีภาครัฐเป็นประภาคาร (Lighthouse) ในการนำทางและเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วน จัดลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนทำก่อน ทำหลัง ดังเช่นนโยบายของรัฐบาลที่เพิ่งประกาศออกมา ที่มีทั้งนโยบายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีภาครัฐเป็นผู้ดูแล (Lifeguard) ให้เกิดความปลอดภัยและเท่าเทียมกันของผู้เล่นในตลาด โดยใช้ฐานข้อมูลในการออกแบบกฎกติกาและ Incentive รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
ที่มา: ธนาคารกรุงไทย