ท่ามกลางการแข่งขันของพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2024/25 พรีเมียร์ลีกได้ร่วมมือกับทรูวิชั่นส์ พันธมิตรการถ่ายทอดสดในประเทศไทย ในการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับอันตรายของการเข้าถึงเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์และต่อสู้กับการสตรีมแบบผิดกฎหมายในประเทศไทย
แคมเปญ "Boot Out Piracy" ของลีกในฤดูกาลนี้ได้ร่วมมือกับนักฟุตบอลชื่อดัง ได้แก่ — อลิสซอน เบ็คเกอร์ (ลิเวอร์พูล เอฟซี), อเลฮานโดร การ์นาโช (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด), ฌอง-ฟิลิปป์ มาเตต้า (คริสตัล พาเลซ), ฮวาง ฮีชาน (วูล์ฟส์) และ บูกาโย ซากา (อาร์เซนอล) เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับอันตรายของการสตรีมแบบผิดกฎหมาย ผ่านชุดวิดีโอที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยนักเตะเหล่านี้จะพูดคุยโดยตรงกับแฟน ๆ ชาวไทย เพื่อเตือนพวกเขาเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงเนื้อหาพรีเมียร์ลีกผ่านช่องทางที่ไม่ได้รับอนุญาต
แคมเปญนี้สืบเนื่องมาจากการศึกษาล่าสุดของ พอล วัตเตอร์ (Paul Watters) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเน้นย้ำถึงความเสี่ยงร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับการสตรีมกีฬาแบบผิดกฎหมาย อาชญากรไซเบอร์ใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์สตรีมมิงกีฬาที่ผิดกฎหมาย ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยมีความเสี่ยงต่อการถูกขโมยข้อมูลและการฉ้อโกงผ่านการแฮ็กเบราว์เซอร์ มัลแวร์ และโฆษณาที่สร้างความเข้าใจผิดๆ
จากผลการศึกษา (สิงหาคม 2567) เว็บไซต์สตรีมมิงด้านกีฬาที่ผิดกฎหมายที่ได้รับความนิยม 25 อันดับแรกในประเทศไทย พบว่าผู้เข้าใช้เว็บเหล่านี้มีความเสี่ยงในการถูกหลอกลวงสูงกว่าเกือบ 6 เท่า เมื่อเทียบกับเว็บไซต์กระแสหลักของไทยที่ได้รับความนิยมจำนวน 25 เว็บไซต์
ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของโฆษณาบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ถูกจัดประเภทเป็น "มีความเสี่ยงสูง" ซึ่งมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่เนื้อหาที่เป็นอันตรายหรือการฉ้อโกง
เควิน พลัมบ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายทั่วไปของพรีเมียร์ลีก กล่าวว่า "เราทราบดีว่าแฟนฟุตบอลในประเทศไทยและทั่วเอเชียให้ความสนใจกับฟุตบอลพรีเมียร์ลีกมากเพียงใด แฟน ๆ นอนดึกเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของพรีเมียร์ลีก แน่นอนว่าเรารับรู้ถึงความเสี่ยงและอันตรายของการชมการแข่งขันผ่านการสตรีมแบบผิดกฎหมาย และเราต้องการสนับสนุนให้แฟน ๆ เพลิดเพลินไปกับเนื้อหาของพรีเมียร์ลีกผ่านคุณภาพที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดผ่านช่องทางที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง"
"นอกเหนือจากการให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับอันตรายของสตรีมมิ่งที่ผิดกฎหมายแล้ว เรายังทำงานอย่างมุ่งมั่นร่วมกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายของไทยและพันธมิตรของเราอย่างทรูวิชั่นส์ เกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายและดำเนินการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ ประเทศไทยมีหน่วยงานปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ชั้นนำของภูมิภาค รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และเรายังจะคงร่วมมือกันในกิจกรรมต่างๆ เช่น การปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ และการดำเนินคดีกับผู้ให้บริการสตรีมมิงแบบผิดกฎหมาย"
"เราสนับสนุนให้แฟนบอลชาวไทยปกป้องข้อมูลส่วนตัวเพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ และเพลิดเพลินไปกับการแข่งขันพรีเมียร์ลีกผ่านแพลตฟอร์มที่ถูกลิขสิทธิ์ ซึ่งจะมอบประสบการณ์การรับชมที่ดีที่สุด"
ศาสตราจารย์พอล วัตเตอร์ กล่าวว่า "ผลการศึกษาเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้ใช้ออนไลน์จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงแพลตฟอร์มที่สตรีมเนื้อหาที่ไม่ได้รับอนุญาต ผู้ใช้อาจเข้าใจว่าเว็บไซต์เหล่านี้ปลอดภัย แต่ผู้ร้ายไซเบอร์มีการวางแผนโจมตีทางไซเบอร์อยู่เสมอ เช่น การรั่วไหลของข้อมูล แรนซัมแวร์ และมัลแวร์ ทำให้ผู้ใช้มีความเสี่ยงสูง โดยแคมเปญ "Boot Out Piracy" ของพรีเมียร์ลีกจะช่วยให้แฟน ๆ ในประเทศไทยเข้าใจถึงความเสี่ยงเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น"
ในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2024/2025 ในประเทศไทย ทรูวิชั่นส์จึงมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ "Boot Out Piracy"
นายสมพันธ์ จารุมิลินท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป กล่าวว่า "เราขอขอบคุณพรีเมียร์ลีกที่มุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย แคมเปญ 'Boot Out Piracy' เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการสร้างการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับอันตรายของการละเมิดลิขสิทธิ์ ผ่านนักเตะจากทีมที่ได้รับความรักและความนิยมมากที่สุดในประเทศไทยเป็นผู้รณรงค์"
"ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราภูมิใจที่ได้มอบประสบการณ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกชั้นยอดให้แก่แฟนบอลชาวไทย อย่างไรก็ตาม การต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้เราสามารถคงไว้ซึ่งคุณภาพเนื้อหาและปกป้องอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย"
ปฏิบัติการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ครั้งใหญ่ในประเทศไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งร่วมมือกันระหว่างพรีเมียร์ลีก ทรูวิชั่นส์ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ สามารถปิดเว็บไซต์สตรีมมิงเถื่อนรายใหญ่ได้ถึง 21 แห่ง และจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 2 ราย เว็บไซต์เหล่านี้ไม่เพียงแต่ละเมิดลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับกิจกรรมผิดกฎหมายอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การพนันออนไลน์ และการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมฉ้อโกง
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 พรีเมียร์ลีก ร่วมกับทรูวิชั่นส์ และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายไทย ได้จัดงานเปิดตัวแคมเปญ 'Boot Out Piracy' ณ กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกันเพื่อดำเนินการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยและปกป้องแฟน ๆ จากความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สำคัญ
นอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองพรีเมียร์ลีกแล้ว งานในครั้งนี้ยังเป็นเวทีสำคัญในการตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และผลกระทบร้ายแรงของการละเมิดลิขสิทธิ์ต่อแฟนบอล รวมถึงการเชื่อมโยงไปสู่อาชญากรรมอื่นๆ อีกด้วย โดยมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหานี้ ภายในงานได้รับเกียรติจากแขกผู้มีเกียรติ
อาทิ คุณมาร์ค กู๊ดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และ คุณแคทเธอรีน เวสต์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง การต่างประเทศและการพัฒนา ฝ่ายกิจการอินโด-แปซิฟิก เพื่อแสดงถึงความสำคัญในการตระหนักถึงปัญหา
แคมเปญ Boot Out Piracy จะถูกนำเสนอผ่านช่องทางการออกอากาศและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในประเทศไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และเวียดนามในเดือนหน้า
ที่มา: เอเดลแมน (ประเทศไทย)